‘ยุคทอง’สมุนไพรไทย ส่งออกขยาย-คนรุ่นใหม่เข้าถึง

กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2563
หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ
qualitylife4444@gmail.com
ข้อมูลของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ามูลค่าทางการตลาดสมุนไพรในประเทศสูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดโลกสูงถึง 3 ล้านล้านบาท ประเทศไทยมีการส่งออกสมุนไพรไทยอยู่ในหลักแสนล้านบาท โดยส่งออกกลุ่มอาหารเสริมกว่า 80,000 ล้านบาท กลุ่มสปาและผลิตภัณฑ์มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท และกลุ่มยาแผนโบราณตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท
กรุงเทพธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันคนรุ่นใหม่นิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น ด้วยความคิดที่ว่า “สมุนไพร” มีความปลอดภัย ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการใช้สมุนไพรของรัฐบาล เช่นการส่งเสริมให้โรงพยาบาล สถานพยาบาลใช้สมุนไพรทดแทนการนำเข้ายาแผนปัจจุบัน และมีการนำสมุนไพรมาใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง 79% อาหารเสริม 18% และยารักษาโรค 4% โดยพืชสมุนไพรที่ได้รับความนิยม ได้แก่ ไพล ใบบัวบก กระชายดำ ขมิ้นชัน
และในช่วงการแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 สมุนไพรที่จะได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วคือ ฟ้าทะลายโจร ขิง กระเทียม หอมแดง และมะนาว เพราะมีประสิทธิภาพในการช่วยแก้อาการและป้องกันไข้หวัด
“สุรัติวดี ทั่งมั่งมี” อาจารย์สาขานวัตกรรมผลิตภัณฑ์สุขภาพ วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มทร.ธัญบุรี กล่าวว่าปัจจุบันคนรุ่นใหม่ให้ความใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น และสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย ประชาชนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่เสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย เช่นสมุนไพรไทยเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะถือเป็นวัตถุดิบสำหรับที่จะนำไปผลิตเป็นเวชภัณฑ์ เครื่องสำอาง และอาหารเสริม
ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมสมุนไพรไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกตามแผนแม่บทว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรปี 2560-2564 นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขพ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพรปี 2562เพิ่มการใช้สมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีการใช้ยาสมุนไพรแทนสารเคมีในโรงพยาบาล รวมทั้งการส่งเสริมงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำ (ปลูก) กลางน้ำ (แปรรูป) ปลายน้ำ (ตลาด) เพื่อให้ได้สมุนไพรที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยจึงเป็นโอกาสทองสำหรับเกษตรกรไทย ที่จะปรับตัวการผลิตให้ตรงกับความต้องการของตลาด
โดยปี 2562 สมุนไพรไทยมีมูลค่าทางการตลาดในประเทศที่สูงถึง 1.8 แสนล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดโลกสูงถึง 3 ล้านล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่ง ประเทศไทยมีการส่งออกวัตถุดิบ ทั้งพืชสมุนไพรสด แห้ง และสารสกัด และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ทั้งในรูปยา เครื่อง สำอางสปา และ เสริมอาหาร ระหว่างเดือนมกราคม-กรกฎาคม2563 แบ่งเป็น สมุนไพร ประมาณ 324.2 ล้านบาท สารสกัดจากสมุนไพร 184.8 ล้านบาท เครื่องเทศและสมุนไพร 2,837.2 ล้านบาท เครื่องสำอางเครื่องหอมและสบู่ 40,070.5 ล้านบาท เครื่องสำอางสบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว 52,218.7 ล้านบาท
“ปี 2562 มีการส่งออกสมุนไพร ส่วนใหญ่ส่งไปที่ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ส่วนสารสกัดส่งออกไปที่ พม่า ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ส่วนปี 2563 มีการขยายตัว อย่างมากประมาณ 400% ส่วนใหญ่จะนำไป เป็นส่วนประกอบในการทำผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อาหารเสริม และเครื่องสำอาง โดยส่งไปที่ ญี่ปุ่นมากที่สุด รองลงมา จีน และสหรัฐอเมริกา จัดได้ว่าเป็นโอกาสทอง ของเกษตรกรที่จะปลูกพืชสมุนไพรออแกนิค เพื่อส่งออก และแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่ายได้เพิ่มมากขึ้น”
ขณะเดียวกันพืชสมุนไพรยังนำไปใช้ในธุรกิจสปาด้วย ตามนโยบายยกระดับและเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมสปาไทย (Creative Spa & Wellness Thailand) เพื่อยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสปาให้มีคุณภาพและมาตรฐานของรัฐบาลไทย
“แสงนภา ทองสา” อาจารย์การแพทย์แผนไทยประยุกต์ มทร.ธัญบุรี เล่าว่า ผลิตภัณฑ์ในสปา มีการใช้สมุนไพรมาเป็นส่วนประกอบ ซึ่งผลิตภัณฑ์หลักที่ได้จากสมุนไพร คือน้ำมันหอมระเหย โดยมีการนำน้ำมันหอมระเหยมาใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในสปา เช่น น้ำมันนวดตัว ครีมนวดตัว ครีมพอก ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและเส้นผม ผลิตภัณฑ์บำรุงเล็บ และเท้า ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์ปรับอากาศ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อธุรกิจสปาเปิดดำเนินการ ได้จะทำให้ตลาดสมุนไพรไทยเติบโตไปด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ปี 2562 มูลค่าธุรกิจสปาทั่วโลก ประมาณ 27 ล้านล้านบาท ธุรกิจสปาของไทย อยู่ที่ประมาณ 35,000 ล้านบาท จัดเป็น อันดับที่ 16 ของโลก และเป็นอันดับ 5 ของเอเชีย มีกิจการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจากกระทรวงสาธารณสุข 2053 แห่ง แบ่งเป็นสปาเพื่อสุขภาพ 531 แห่ง นวดเพื่อสุขภาพ 1217 แห่ง นวดเพื่อเสริมสวย 305 แห่ง ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมในเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ ความงาม คุณภาพและระบบการให้บริการได้รับการยอมรับให้เป็นประเทศลำดับต้นๆ ของโลกที่มีระบบการบริหารจัดการด้านสาธารณสุข ที่ดีมาก เหมาะสำหรับการเป็นศูนย์กลางบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Hub) ด้านสุขภาพและความงามในภูมิภาคนี้
โดยเมื่อเร็วๆนี้ คณะเทคโนโลยีการเกษตร ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) กับ บริษัท Organic Scientific LLC., United State of America เพื่อดำเนินงานวิจัยและพัฒนากัญชง ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ด้วยการวิจัย พัฒนาสายพันธุ์ไปจนถึงแปรรูป สารสกัด นำไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ จำหน่าย โดย ดร.ลลิตา ศิริวัฒนานนท์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า เป็นการลงทุนร่วมของบริษัทกับทางมหาวิทยาลัย ตั้งแต่เริ่มต้นจนออกเป็นผลสัมฤทธิ์นำไปใช้ได้ โดยผลงานทางวิชาการจะเป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะสามารถนำสายพันธุ์ที่พัฒนาแล้วไปส่งเสริมเกษตรกรให้ปลูกและส่งออกไปจำหน่ายให้กับบริษัทได้ส่วนผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปแล้วบริษัทจะเป็น ผู้บริหารจัดการและจัดจำหน่าย
“กัญชงสามารถพัฒนาเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถนำไปวิจัยพัฒนา สารสกัด และนำไปแปรรูปใช้ได้ทุกส่วน ที่สำคัญมีสาร CBD สูง แต่มี THC ที่มีฤทธิ์มึนเมาต่ำ ซึ่งสหรัฐอเมริกา มีการนำสารสกัด กัญชงไปใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง ถ้ามีการปลดล็อกให้เกษตรกรปลูกเพื่อจำหน่ายได้ ถ้าจะเป็นอีกหนทางหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและประเทศได้” คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวทิ้งท้าย

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]