คอลัมน์ เดลินิวส์วาไรตี้: ลวดลายสีสันสร้างเอกลักษณ์ หัตถศิลป์’เครื่องจักสานไม้ไผ่’

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 06 สิงหาคม พ.ศ. 2563
พงษ์พรรณ บุญเลิศ
เครื่องมือเครื่องใช้จากงานจักสานไม้ไผ่มีความผูกพันใกล้ชิดกับวิถีชีวิตคนไทยมายาวนาน นอกจากการใช้ในครัวเรือน เป็นภาชนะที่คุ้นเคย “เครื่องจักสานไม้ไผ่” ในปัจจุบันได้พัฒนารูปแบบ ต่อยอดการสร้างสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ มีดีไซน์สวยงาม
ผศ.กรณัท สุขสวัสดิ์ อาจารย์สาขาออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้มุมมองสร้างสรรค์งานจักสานไม้ไผ่ สร้างเอกลักษณ์ให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยลวดลายและการย้อมสีธรรมชาติว่า งานจักสานอยู่คู่กับวิถีไทยมายาวนาน สำหรับเครื่องจักสานไม้ไผ่วัสดุสำคัญที่ต้องกล่าวถึงก็คือ ไผ่ ซึ่งไผ่ถือยังเป็นพืชที่มากไปด้วยประโยชน์
นอกจากใช้ในงานหัตถกรรมจักสาน ไผ่ยังนำมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องดนตรี นำมาเป็นอาหาร โดยเฉพาะหน่อไม้ สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลายเมนู และยังนำไปแปรรูปได้มากดังเช่น ทำหน่อไม้ดอง แหนมหน่อไม้ และด้วยลักษณะเด่นของไผ่ ลำต้นมีความแข็งแรง เนื้อไผ่มีความเหนียวยังมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณีของชุมชนซึ่งจะเห็นการใช้ประโยชน์จากไผ่หลากหลายมิติ
นอกจากนี้ส่วนของใบไผ่ สามารถนำมาห่ออาหารห่อขนม หรือแม้แต่ใบที่หล่นร่วงสามารถนำไปอัดทำเป็นภาชนะ ทำกระดาษจากใบไผ่ ทำปุ๋ย และด้วยใบไผ่ให้สี ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่าให้สีเขียว สามารถนำไปพัฒนาสร้างสรรค์เป็นสีย้อมจากธรรมชาติได้อีกด้วย เรียกว่าตลอดทั้งต้นไผ่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด นำมาประยุกต์ใช้ได้รอบด้าน
ผศ.กรณัท เล่าเพิ่มอีกว่า ไผ่เป็นพืชที่ปลูกขึ้นง่าย ขึ้นได้ในหลายพื้นที่ ทั้งยังเป็นพืชที่มีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ในประเทศไทยพบชนิดไผ่หลากหลายขึ้นกระจายอยู่ในภูมิภาคต่าง ๆ โดยที่นำมาใช้ในงานจักสานมีอยู่หลายชนิด อย่างเช่น ไผ่บงไผ่สีสุก ฯลฯ ซึ่งการนำมาใช้จะเลือกชนิดที่เหมาะสมกับชิ้นงาน
“แต่เดิมตอกที่นำมาใช้จักสานจะเป็นสีธรรมชาติ สีของเนื้อไผ่เป็นสีขาว น้ำตาลอ่อน ๆ จากนั้นมาจะเห็นสีสันในงานจักสานเพิ่มขึ้น ทั้งยังเห็นงานจักสานไม้ไผ่ประยุกต์สร้างสรรค์ร่วมกับวัสดุอื่น ๆ เปลี่ยนจากเดิมที่เป็นภาชนะ เป็นเครื่องใช้สานด้วยไม้ไผ่อย่างเดียว อย่างเช่น กระเป๋าหนังตกแต่งเข้ากับงานจักสาน เช่นเดียวกับ โคมไฟ แจกันหลายรูปแบบ นำลวดลายงานจักสานมาตกแต่งประยุกต์ร่วมกับวัสดุอื่น ๆ ดีไซน์ให้เข้าถึงกลุ่มผู้ใช้เพิ่มขึ้น”
จากที่กล่าวปัจจุบันมีสีสันหลากหลายเพิ่มจากสีธรรมชาติของไผ่ โดยสีที่นำมาย้อม มีทั้งสีธรรมชาติและเคมี และมีทั้งการย้อมร้อนและย้อมเย็น โดย การย้อมเย็น ย้อมด้วยสีเคมีจะเริ่มด้วยการนำสีมาผสมกับน้ำคนจนเข้ากันจะไม่ใช้ความร้อน จากนั้นนำเส้นตอกแช่หมักไว้แล้วจึงนำไปตากจนแห้ง สีในรูปแบบนี้จะให้ความสดใสและมีความหลากหลายเฉดสี ต่างจากการย้อมสีธรรมชาติซึ่งเป็นเอิร์ธโทนให้ความรู้สึกนุ่มนวล ทั้งนี้เพราะเป็นสีที่ได้จากรากไม้ เปลือกไม้ หรือใบไม้ ฯลฯ โดยจะนำไปต้ม เป็นการย้อมร้อน
การย้อมทั้งสองรูปแบบจะเห็นความต่างกัน การย้อมเย็นจะให้ความสะดวกในการทำงาน ส่วนการย้อมร้อน ย้อมด้วยสีธรรมชาติจะค่อนข้างใช้เวลา ซึ่งการย้อมสีธรรมชาติจะมีกรรมวิธีคล้ายกับการย้อมเส้นใย แต่อย่างไรก็ตามการย้อมทั้งสองรูปแบบ ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้งานในชีวิตประจำวันมากกว่า ทั้งนี้การย้อมเย็นจะมีเกือบทุกสี ส่วนการย้อมร้อนจะเป็นสีในแบบธรรมชาติ เป็นในโทนน้ำตาล สีสันไม่ฉูดฉาด และแม้จะดูเหมือนเป็นสีอ่อน แต่ในความอ่อนของสีธรรมชาตินั้นดูนุ่มนวล สว่าง และถ้าต้องการความเข้มของสีสามารถเพิ่มความอ่อนเข้มได้
อาจารย์สาขาออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย ผศ.กรณัท ขยายความเล่าเพิ่มถึงการย้อมสีธรรมชาติอีกว่า การย้อมร้อน ย้อมสีธรรมชาติถือเป็นทางเลือก ส่งต่อการสร้างสรรค์งานใหม่ ๆ ทั้งเป็นการสร้างองค์ความรู้ โดยสีธรรมชาติมีความงามที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างเช่นการย้อมตอกด้วยสีธรรมชาติก่อนนำไปสาน หากต้องการ สีน้ำตาล จะได้จากเปลือกประดู่ สีแดง จากกระเจี๊ยบ สีเขียว จากใบย่านาง ใบไผ่ สีม่วง จากอัญชันฯลฯ การย้อมสีลักษณะนี้มีวิธีการคล้ายกับการย้อมเส้นฝ้าย แต่การย้อมไผ่ ย้อมเส้นตอกจะมีเทคนิคที่ต่างออกไป โดยจะใส่น้ำส้มสายชูลงไปเล็กน้อยเพื่อให้สีติดทนยิ่งขึ้น
ในความนิยมงานจักสาน ปัจจุบันยังคงได้รับความสนใจ จะเห็นว่ามีการพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง จากเดิมเป็นของใช้ในครัวเรือน แต่ปัจจุบันมีสิ่งของเครื่องใช้ที่มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น มีทั้งหมอน รองเท้า เครื่องเรือน เครื่องประดับจักสาน ฯลฯ งานจักสานยังแสดงถึงความละเอียดประณีต พิถีพิถันจากการนำเส้นตอกเส้นเล็ก ๆ ค่อย ๆ สานเป็นลวดลาย มีสีสันสวยงาม เปลี่ยนจากตะกร้า ชะลอม ฝาชี โคมไฟที่คุ้นตา เป็นงานดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์
งานจักสานไม้ไผ่ งานฝีมือดังกล่าวได้ ส่งต่อองค์ความรู้หลายมิติให้ศึกษาและสืบสาน ทั้งนี้ ผศ.กรณัทเล่าเพิ่ม ในด้านลวดลายอีกว่า ฝาชีที่ใช้ครอบอาหารแต่เดิมจะเป็นสีพื้นสีเปลือกไข่ แต่ปัจจุบันออกแบบสร้างสรรค์ใส่ไอเดีย เพิ่มลวดลายและสีสันจนสร้างความโดดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ และจากฝาชีจักสานไม้ไผ่ยังสร้างสรรค์ต่อยอดไปเป็นโคมไฟได้อีกด้วย
ผศ.กรณัท ขยายความเพิ่มอีกว่า ลายที่เห็นในงานจักสานส่วนใหญ่เป็นลายพื้นฐานซึ่งสานขึ้นอย่างเรียบง่ายแต่ปัจจุบันออกแบบพัฒนาลวดลายเพิ่มขึ้น มีทั้งการ สานเป็นตัวอักษร เป็นข้อความ หรือผสมผสานลายพื้นฐานเข้ากับลายใหม่ ๆ ซึ่งก็จะคล้ายกับการออกแบบลายการทอผ้า แต่สำหรับลายที่มีความละเอียดจะใช้เวลาการสานนานขึ้น
“ลวดลายจึงเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มความน่าสนใจให้กับผลิตภัณฑ์ รวมทั้งเพิ่มมูลค่าให้กับงานจักสาน ที่ผ่านมาจากการศึกษาวิจัยทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานจักสาน จากปีที่ผ่านมาซึ่งศึกษาเกี่ยวกับวัสดุงานประดิษฐ์ทางธรรมชาติ วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร นำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้นำใบไผ่มาทำกระดาษ ขณะเดียวกันในการทดลองพบว่า เมื่อนำใบไผ่ไปต้ม เกิดสี จึงนำมาทดลองต่อเพื่อ นำมาเป็นสีย้อมให้กับงานจักสานไผ่ นอกจากเป็นการเพิ่มความหลากหลายให้กับสีย้อม ยังเพิ่มเฉดสีในกลุ่มสีเขียว”
จากที่กล่าว ไผ่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้แทบทุกส่วน สำหรับส่วนใบไผ่ที่ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ เป็นวัสดุเหลือทิ้งจึงนำมา สร้างมูลค่าเพิ่ม โดยพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์กระดาษจากใบไผ่ และจากผลิตภัณฑ์ต้นแบบดังกล่าวยังต่อยอดนำไปแปรรูปสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ต่อไปได้อีก เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชน
จากการศึกษาวิจัยใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือทิ้ง ศึกษาต่อถึงการย้อมสีธรรมชาติ ย้อมเส้นตอกไผ่และพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ โดยออกแบบสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์กระเป๋า โคมไฟจากการย้อมสีธรรมชาติ โดยโคมไฟจัดทำขึ้นหลายรูปทรง ทั้งใช้งานจักสานขึ้นบนโครงเหล็กและโครงไม้ เพิ่มความต่างและความหลากหลาย อีกทั้งนำลายข้าวหลามตัด ลายตารางสี่เหลี่ยม ฯลฯซึ่งเป็นลายพื้นฐานที่คุ้นเคยและนิยมนำมาสานตกแต่งโคมไฟ จัดทำเป็นของที่ระลึก เพิ่มความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์จักสาน….
ส่งต่อการอนุรักษ์งานหัตถกรรมจักสานไม้ไผ่ที่มีเอกลักษณ์ ความงามและองค์ความรู้คงอยู่ร่วมกัน.

“ส่งต่อการสร้างสรรค์สร้างองค์ความรู้”

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]