มทร.ธัญบุรี พัฒนา ‘เครื่องอบแห้ง’

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2563
นายกิตติศักดิ์ บรรดาศักดิ์ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเกษตร ชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เปิดเผยว่า ปัญหา หลักในกระบวนการอบแห้ง คือการตรวจวัดความชื้นของอาหารในระหว่างการอบแห้ง ซึ่งจะต้องนำอาหารออกมาจากเครื่องอบเพื่อนำมาทดสอบหาค่าความชื้นทุกครั้ง โดยการหาความชื้นจะใช้เวลานานมาก จึงไม่สามารถทราบการเปลี่ยนแปลงของค่าความชื้นของอาหารในระหว่างที่อบแห้งขณะเวลานั้นได้ ทำให้ไม่สามารถทำการอบแห้งอาหารในค่าความชื้นที่ต้องการได้อย่างแม่นยำ ดังนั้นหากระหว่างกระบวนการอบแห้งสามารถทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของความชื้นของอาหารได้ตลอดเวลา ก็จะช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ นี่ จึงเป็นจุดเริ่มต้นในการออกแบบและสร้างเครื่องระบบตรวจวัดความชื้นตามเวลาจริงในระหว่างการอบแห้ง โดยใช้รังสีอินฟราเรดเป็นแหล่งพลังงานความร้อน ซึ่งเครื่องที่สร้างจะใช้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักอาหารในการคำนวณหาค่าความชื้น โดยติดตั้งชุดเครื่องชั่งน้ำหนัก เพื่อใช้วัดน้ำหนักของอาหารในระหว่างการอบแห้ง แล้วแสดงผลออกมาเป็นค่าความชื้นในระหว่างกระบวนการอบแห้งที่จอแสดงผล
ส่วนรายละเอียดในการออกแบบโครงสร้างตู้อบให้มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมที่โครงเครื่องทำจากเหล็กกล่องขนาด 0.5 นิ้ว โดย แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกจะเป็นห้องอบแห้ง และส่วนที่สองจะเป็นห้องควบคุมด้านล่างโดยทั้ง 2 ส่วนทำจากแผ่นสเตนเลส หนา 1 มิลลิเมตร ระหว่างห้องภายในทั้งสองห้องกับผนังด้านนอกบรรจุฉนวนใยแก้ว นอกจากนี้ยังมีชุดให้พลังงานความร้อนหลอดอินฟราเรด ชุดควบคุมอุณหภูมิ ชุดชั่งน้ำหนักโหลดเซลล์ แบบซิงเกิ้ลพ้อยท์ พัดลมกระจายความร้อนภายในห้องอบแห้งเพื่อดูดอากาศจากภายนอกให้เข้ามาไหลเวียนอยู่ภายในส่วนของห้องอบแห้ง ทำให้เกิดการไหลเวียนของลมร้อนที่ได้พลังงานความร้อนจากชุดอินฟราเรดกระจายตัวได้อย่างทั่วถึง และระบายความชื้นที่ระเหยออกจากอาหารผ่านช่องระบายอากาศของตัวเครื่อง รวมถึงชุดแผงวงจรควบคุมและการแสดงผล โดยเครื่องต้นแบบดังกล่าวนี้มีราคากว่า 10,000 บาท รองรับวัตถุดิบที่มีน้ำหนักต่อครั้งไม่เกิน 1 กก. และใช้อุณหภูมิในการทดสอบไม่เกิน 90 องศา
ผลการทดสอบการทำงานของเครื่อง ต้นแบบระบบตรวจวัดความชื้น และเปรียบเทียบค่าความชื้นจากวิธีการมาตรฐาน พบว่าสามารถวัดค่าผลิตภัณฑ์ได้อย่างแม่นยำและสามารถใช้งานได้จริง ซึ่งเครื่องนี้เหมาะกับ การใช้งานสำหรับนักวิจัยและพัฒนา รวมถึงอุตสาหกรรมระดับชุมชน ในอนาคตสามารถพัฒนาหรือขยายสเกลเครื่องให้ใหญ่รองรับการใช้งานที่มากขึ้น รวมถึงการควบคุมผ่านสมาร์ท โฟน เพื่อให้ง่ายยิ่งขึ้นต่อการควบคุมต่อไป ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ โทร. 09-9116-4980.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]