คอลัมน์ เดลินิวส์วาไรตี้: จับสีสันธรรมชาติใส่’ผืนผ้า’ เพิ่มความหลากหลายให้สิ่งทอ

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

พงษ์พรรณ บุญเลิศ
การนำสีจากวัสดุธรรมชาติมาใช้มีปรากฏมายาวนาน โดยเฉพาะสีสันสวยหลากหลายจากต้นไม้ ใบไม้ เมื่อนำมาสกัด นำมาย้อมผืนผ้ายังเพิ่มความโดดเด่น ความสวยงามน่าหลงใหล สร้างความต่างที่เป็นมนต์เสน่ห์…
สีธรรมชาติจากนานาพันธุ์ไม้ แต่ละชนิดบอกเล่าความงามเป็นเอกลักษณ์ และยังส่งต่อการค้นคว้า การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ผศ.กรณัท สุขสวัสดิ์ อาจารย์สาขาออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ให้ความรู้พาสัมผัสสีสันจากพืชให้สี จากวัสดุเหลือใช้การเกษตรที่นำมาพัฒนาเป็นสีย้อมผ้าว่า ในภาพรวมของสีที่นำมาใช้กันมาจากสีสังเคราะห์และสีจากธรรมชาติ ซึ่งสีธรรมชาติส่วนมากได้จากพืชพันธุ์ไม้หลายชนิด โดยส่วนที่ให้สีมาจากหลายส่วนของพืช ทั้งจาก ใบ ราก ลำต้น แก่น ดอก รวมถึงผล ซึ่งให้สีสันหลายเฉดสี
อย่างเช่น กลุ่มสีแดง สีส้ม ได้จากรากยอ แก่นฝาง ดอกกรรณิการ์ ฯลฯ สีคราม ได้จากใบของต้นคราม หรือต้นห้อม ฯลฯ สีเหลือง ได้จากแก่นขนุน ขมิ้น ขณะที่เปลือกข้าวโพด ฟางข้าวจะให้สีเหลืองอ่อน ฯลฯ กลุ่มสีดำ จากมะเกลือ ฯลฯ สีเขียว ได้จากใบหูกวาง ใบไผ่ ใบตะไคร้ ฯลฯ สีน้ำตาล ได้จากใบบัว เปลือกมังคุด เป็นต้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ในทุกสี โดยลักษณะของสีธรรมชาติส่วนใหญ่เป็นเอิร์ธโทน ให้ความรู้สึกนุ่มนวล สบายตา ไม่ฉูดฉาด และยังมีความโดดเด่นเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย
ผศ.กรณัท ขยายความถึงเสน่ห์สีธรรมชาติจากพืชให้สีอีกว่า นอกจากคุณสมบัติดังกล่าว หลากสีสันจากธรรมชาติยังเกิดการนำสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวนำมาสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ส่งต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม เกิดการสร้างอาชีพและรายได้
“สีจากธรรมชาติมีการนำมาใช้กันมายาวนานนับแต่โบราณ นำพืช นำสีสันจากต้นไม้ในป่ามาใช้ประโยชน์ จากนั้นพัฒนา เรื่อยมาโดยได้มีการศึกษาทดลอง นำพืชชนิดใหม่ ๆ มาทดสอบการให้สี กระทั่งเกิดองค์ความรู้เพิ่มขึ้น อย่างเช่นการย้อมสีเส้นฝ้ายก่อนนำมาทอเป็นผืนผ้า ซึ่งการย้อมมีสองลักษณะคือ ย้อมเย็น และย้อมร้อนโดยการย้อมเย็นจะไม่ใช้ความร้อน ตรงข้ามกับการย้อมร้อนที่ต้องใช้ความร้อน อุณหภูมิที่เหมาะสม และการย้อมลักษณะนี้มีความนิยมย้อมด้วยสีธรรมชาติ”
พืชใกล้ตัวที่แวดล้อมรอบตัวเราที่ให้สีมีอยู่มาก ที่ผ่านมาทดลองกับพืชการเกษตรที่เหลือใช้หลายชนิด อย่างเช่น ตะไคร้ พืชสวนครัวที่ทราบกันดีว่ามีประโยชน์หลายส่วน ทั้งนำมาปรุงประกอบอาหารและยังเป็นพืชสมุนไพรให้กลิ่นหอม นอกจากส่วนต้นที่ตัดส่งขาย ส่วนใบที่เหลือจึงนำมาวิจัย ทดลองสกัดสีและนำมาย้อมผ้า เพิ่มความหลากหลาย
“ของเหลือใช้รอบตัวเรา ถ้าพิจารณาจะเห็นว่ามีอยู่ไม่น้อย จึงมีแนวคิดนำกลับมาสร้างคุณค่าเพิ่มประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งเหล่านั้น และด้วยที่สอนในสาขาออกแบบแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย ซึ่งศึกษาการย้อมสีธรรมชาติ การพัฒนาลวดลาย การแปรรูปในพืชหลายชนิด ตะไคร้ นับเป็นพืชอีกชนิดที่น่าสนใจ ทั้งในด้านกลิ่น และสีสัน”
ผศ.กรณัท อธิบายเพิ่มอีกว่าเมื่อนำมา ทดลองกลั่นเป็นสี นำมาผ่านกระบวนการย้อมร้อน ทดสอบกับการย้อมผ้าโดย ใบตะไคร้ให้สีเขียว เป็นอีกวัตถุดิบที่ให้สีในกลุ่มเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามในความเขียวจากใบตะไคร้จะดร็อปลงมาจากสีเขียวที่ได้จากพืชชนิดอื่น ๆ ที่ให้สีเดียวกัน
อย่างไรก็ตามถ้าต้องการเพิ่มสีสันที่มีความเข้มขึ้น สามารถเพิ่มสีได้จากใบหูกวางซึ่งให้สีเขียว และในความต่างของสีเขียวจากใบตะไคร้อาจดีไซน์ โดยจับคู่ ไล่สีความอ่อนเข้มของสีร่วมกับพืชให้สีเขียวชนิดอื่น ๆ สร้างเสน่ห์ให้กับผืนผ้า
“ใบไผ่” ก็เช่นกัน การย้อมด้วยสีจากใบไผ่จะได้สองเฉดสี ให้ทั้ง สีเขียวและสีน้ำตาล ที่มีเอกลักษณ์ จากการทดลองวิจัยสีจากใบไผ่ ศึกษา ใบสด และใบแห้ง โดยใบสดให้สีเขียว ส่วนใบแห้งให้สีน้ำตาลอ่อน ส่วนถ้าต้องการเฉดสีมีความเข้ม อ่อน ก็ต้องเพิ่มเติมในส่วนผสม จากวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ โดยถ้าต้องการเขียวเข้ม ใส่ ใบหูกวาง หรือพืชชนิดอื่น ๆ ที่ให้สีเขียวดังที่ได้กล่าว ขณะที่ สีน้ำตาล เพิ่มสีใบไม้ชนิดอื่น ๆ ที่ให้สีน้ำตาลซึ่งมีหลายชนิด อย่างเช่น เปลือกต้นประดู่ เปลือกต้นนนทรี หรือใบสัก ซึ่งให้โทนสีน้ำตาลเข้มขึ้น เป็นต้น
ผศ.กรณัท เล่าถึงพืชให้สีนำมาย้อมผ้าเพิ่มอีกว่า สีธรรมชาติจะไม่สร้างความระคายเคืองกับผิวหนัง โดยเมื่อนำมาอยู่ในผืนผ้าฝ้ายยิ่งมีความโดดเด่น ช่วยระบายความร้อนได้ดี สวมใส่แล้วสบาย ส่วนพืชแต่ละชนิดจะให้สีที่ต่างกันไป บางชนิดใบมีสีเขียวแต่เมื่อนำมาทดลองก็ไม่ได้เป็นสีนั้น แต่กลับได้อีกสีหนึ่ง อย่างเช่น ใบบัว ใบมีสีเขียว แต่สีที่ได้เป็นสีน้ำตาล เป็นต้น
“ใบตะไคร้ สีที่ได้จากใบสด การสกัดสีจะนำใบมาสับ หรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ ในการทดลองจะใช้ทั้งวิธีการต้มให้เปื่อย ซึ่งก็มีข้อจำกัดคือใช้เวลานาน และนำไปปั่นเพื่อให้สีแตกตัวเร็ว ใช้เวลาน้อยกว่า จากนั้นเป็นไปตามกระบวนการขั้นตอนโดยมีรายละเอียดต่าง ๆ เช่นเดียวกับพืชชนิดอื่น ๆ ที่ให้สีสันต่างไป มีวิธีการทำเช่นเดียวกัน สร้างสรรค์สีที่มีเอกลักษณ์ เป็นสีธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
นอกจากนี้ยังมีการทดลองกับพืชอีกหลายชนิด อย่าง เช่น ฟางข้าว และ ใบบัว พบว่าให้สีน้ำตาล ขณะที่ โคลน ให้สีได้หลายเฉด โดยโคลนแต่ละสถานที่จะไม่เหมือนกัน ทั้งนี้สีธรรมชาติจากโคลนการซักล้างหลังการย้อม อาจใช้เวลาด้วยที่โคลนจะ ติดเส้นฝ้าย การล้างจึงใช้เวลานาน เป็นลักษณะเฉพาะของการ ย้อมโคลน
ส่วนสีสันโทนอื่น ๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงก็มีให้เห็นได้จากพืชให้สี หลายชนิด ทั้งจากดอกไม้ จากพืชผักอย่างเช่น ใบขี้เหล็ก ดอกอัญชัน ดาวเรือง ใบเตย ฯลฯ โดยสีธรรมชาติส่วนใหญ่ให้สีเอิร์ธโทน ไม่ฉูดฉาด แต่หลังจากการย้อมนำไปพัฒนาสร้างสรรค์ลวดลาย เพิ่มนวัตกรรม ดีไซน์ได้หลากหลายลักษณะ โดยผ้าย้อมสีธรรมชาติยังคงเป็นที่สนใจ
ผศ.กรณัท กล่าวทิ้งท้ายแนะนำการดูแลผ้าย้อมสีธรรมชาติว่า การดูแลผืนผ้าหรือผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ย้อมสีธรรมชาติก็เหมือนกับการดูแลผ้าโดยทั่วไป ระวังเรื่องความร้อนอย่างเช่นการรีดผ้า ควรรีดจากด้านในแทนการรีดจากด้านนอก เช่นเดียวกับการตาก ไม่ควรตากแดดให้ผืนผ้ารับแสงแดดแรง ๆ โดยตรง ควรผึ่งลม ทั้งนี้ผืนผ้าที่ได้รับความร้อนมาก ๆ จะทำให้ผ้าสีซีดจางลงเร็ว และด้วยที่เป็นสีธรรมชาติ ไม่ก็จะเกิดซีดหมองเร็วกว่าเดิม
การย้อมสีธรรมชาติเป็นงานฝีมือที่มีคุณค่าและมูลค่า เพราะด้วยกระบวนการสร้างสรรค์ซึ่งใช้เวลา ใช้ความชำนาญ และประสบการณ์ เป็นโอกาสสำหรับผู้ที่มีความสนใจที่จะทดลองสร้างสรรค์ ค้นวัสดุธรรมชาติให้สีที่แตกต่าง
เพิ่มความหลากหลาย ต่อยอดสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ.

“สิ่งแวดล้อมใกล้ตัวสร้างองค์ความรู้”

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]