นักศึกษาบูรณาการความรู้ สร้างนวัตกรรมเพื่อชุมชน

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 05 เมษายน พ.ศ. 2563
สาวสายเดี่ยว
การที่นักศึกษานำความรู้เข้าไปพัฒนาตามความต้องการชุมชน นำไปสู่นวัตกรรมชุมชน นอกจากจะช่วยให้เพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตของชุมชนแล้ว ยังเป็นการเพิ่มพูนกระบวนการคิดของนักศึกษา และก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ ๆ
นักศึกษารายวิชานวัตกรรมเพื่อชุมชน มทร.ธัญบุรี ลงพื้นที่ประยุกต์องค์ความรู้สู่การสร้างนวัตกรรม ณ ชุมชนบ้านบึงสมบูรณ์ หมู่ที่ 2 ต.บึงกาสาม จ.ปทุมธานี โดยนายทองสุข สีลิด กำนันตำบลบึงกาสาม กล่าวว่า การเข้ามาเรียนรู้แลกเปลี่ยน เป็นการเติมเต็มให้กับชุมชน องค์ความรู้สามารถนำไปต่อยอดได้ เช่น เปลือกไข่ เป็นของเหลือใช้ในชุมชน นักศึกษานำมาผลิตปุ๋ย เป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเรียนรู้ได้ ถ้าชาวบ้านไปเรียนรู้ หรือค้นคว้าเอง เป็นเรื่องที่ยาก ถ้ามีคนมาให้ความรู้ทำให้ชาวบ้านเข้าใจ นำไปต่อยอดจะสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชน นวัตกรรมที่เกิดขึ้นในชุมชนในวันนี้ อยากให้ชาวบ้านเรียนรู้ องค์ความรู้ที่ได้ นำไปสู่การผลิตแบบผู้ประกอบการ ต่อยอดสร้างรายได้ให้กับชุมชน แต่อย่างไรก็ตามองค์ความรู้ที่สร้าง จะเกิดประโยชน์หรือไม่ขึ้นอยู่กับนำไปต่อยอดของคนในชุมชน
นายภควัต มาสูงเนิน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ ตัวแทนนวัตกรรมชุมชน “เก้าอี้จากฟางข้าว” ที่นำวัสดุในชุมชนมาสร้างมูลค่า และชาวบ้านสามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้ บอกว่า การได้ลงพื้นที่ช่วยชุมชนทำให้ความคิดตนเองเปลี่ยนไป ได้รู้จักการทำงานเป็นทีม ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และอยากมีส่วนร่วมกับชุมชนมากขึ้น
นางสาวจิราภรณ์ โฉมฉิน นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาเทคโนโลยีการโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน บอกว่า แต่ละครัวเรือนมักจะนิยมรับประทานไข่ เปลือกไข่กลายเป็นขยะแต่มีแคลเซียมสูง จึงนำเปลือกไข่มาทำปุ๋ยไล่ศัตรูพืชและเร่งการเจริญเติบโต ซึ่งได้ผลเป็นอย่างดี ต่อยอดให้ชาวบ้านทำปุ๋ยออกจำหน่าย โดยได้ออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้น่าสนใจ ซึ่งทำให้ตนเองได้บูรณาการวิชาที่เรียนมาช่วยเหลือชุมชน
เช่นเดียวกับ นางสาวปัณฑิตา สมตั้ง นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม ที่บอกว่าจากการลงพื้นที่ชุมชนมีเปลือกไข่เหลือทิ้งจากร้านอาหารตามสั่ง นำเปลือกไข่มาทำน้ำยาสุขภัณฑ์เติมกลิ่นส้ม นำเปลือกไข่ไปบด ใส่กลีเซอรีน แต่งกลิ่นส้ม เปลือกไข่ที่ตำละเอียดจะช่วยขจัดคราบได้ดี ชาวบ้านสามารถทำใช้ในบ้าน หรือจำหน่ายในชุมชนได้
นายวิรัช โหตระไวศยะ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เผยว่า ชุมชนเป็นแหล่งในการค้นคว้า เรียนรู้ องค์ความรู้ต่าง ๆ ได้เห็นสภาพชุมชนที่แท้จริง โดยใช้กระบวนการ “ความคิดเชิงนวัตกรรม” คือ นักศึกษาต้อง เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนาไปสู่นวัตกรรม ตามความต้องการของชุมชน ด้วยการลงมือทำ ทำให้นักศึกษามีแนวคิดเปลี่ยนไป ได้บูรณาการเชื่อมโยงข้ามศาสตร์องค์ความรู้ต่าง ๆ ปลายทางได้รู้การทำงานเป็นทีม Soft Skill ความมีน้ำใจ ความเอื้ออาทรต่อสังคม.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]