“ต้นทางมีวินัย ปลายทางคว้าชัยสำเร็จ” นักกรีฑาทีมชาติไทย มทร.ธัญบุรี ‘เหรียญทองซีเกมส์ 2019’

หลังจบการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ 2019 ครั้งที่ 30 และปิดฉากลงอย่างเป็นทางการ ที่สนามกีฬานิว คลาร์ก ซิตี้ แอธเลติก สเตเดียม เมืองคลาร์ก ประเทศฟิลิปปินส์ รายการไฮไลต์สำคัญอย่าง วิ่งผลัด 4×100 เมตร ประเภททีมชาย เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 1 คว้าเหรียญทอง ด้วยเวลา 39.27 วินาที ทั้งยังลงแข่งวิ่ง 100 เมตรชาย เป็นครั้งแรก ได้เหรียญทองแดง จากผลงานของ จ่าอากาศตรี บัณฑิต ช่วงไชย หรือมอส

หนุ่มนักวิ่งดาวรุ่ง วัย 26 ปี ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาโทสาขาวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี “มอส” เป็นคน จ.อุบลราชธานี พ่อทำงานรับจ้างทั่วไป ส่วนแม่นั้นจากไปเมื่อหลายปีก่อน และมีน้องสาวหนึ่งคน ซึ่ง ม.ต้น เขาเรียนที่โรงเรียนบ้านสบสา จ.พะเยา จากนั้นเรียนต่อที่โรงเรียนกีฬา จ.อุบลราชธานี จึงสนใจกีฬาประเภทกรีฑาตั้งแต่นั้นมา กระทั่งจบ ป.ตรี ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

หลายคนมักมองว่า “นักกีฬาเป็นอภิสิทธิ์ชน ไม่ต้องเข้าเรียนเช่นคนทั่วไปก็เรียนจบ” หารู้ไม่ว่า นักกีฬา โดยเฉพาะทีมชาติไทยต่างต้องทุ่มเทฝึกซ้อม เก็บตัวฝึกฝนอย่างหนัก หาประสบการณ์แมตช์ต่าง ๆ ตามการวางแผนที่เข้มข้น ทั้งยังต้องเสียสละเวลาส่วนตัวอีกด้วย แน่นอนว่านักกีฬาอาจได้รับโควตาหรือเงื่อนไขพิเศษ แต่ก็จะต้องสร้างชื่อเสียงและคว้าชัยสำคัญมาให้ได้ด้วย และเห็นว่าการศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิตนั้นสำคัญ ที่จะพาชีวิตให้มีคุณค่า จึงเรียนต่อ ป.โท ที่ มทร.ธัญบุรี ตามคำแนะนำของรุ่นพี่ และเห็นว่าที่แห่งนี้ จัดอีเวนต์ด้านกีฬาค่อนข้างสม่ำเสมอบ่อย อาจช่วยส่งเสริมให้ตนเองได้ฝึกซ้อมและพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นต่อไปได้ รวมถึงชื่อเสียงด้านคุณภาพทางวิชาการ

มอส เล่าว่า ตนเองติดทีมชาติครั้งแรกเมื่อปี 2558 กีฬาซีเกมส์ ประเทศสิงคโปร์ ตอนนั้นไม่ได้ลงแข่งเนื่องจากได้รับบาดเจ็บ จึงได้เป็นตัวสำรอง ถัดมาได้ลงแข่งขันที่ประเทศมาเลเซีย วิ่งผลัด 4×100 เมตร ได้เหรียญทอง ล่าสุดที่ประเทศฟิลิปปินส์ คว้าชัยได้มา 2 เหรียญอย่างภาคภูมิใจ คือเหรียญทองและทองแดง จากการมีวินัยต่อตนเองทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเชื่อว่า “หากต้นทางมีวินัยฝึกซ้อมที่ดีและต่อเนื่อง ปลายทางจะคว้าชัยประสบความสำเร็จ”

การเก็บตัวฝึกซ้อม เป็นคุณสมบัติพื้นฐานสำคัญของนักกีฬาทุกคนที่แสดงถึงความเป็นมืออาชีพ ยิ่งได้มีโอกาสทำหน้าที่รับใช้ชาติด้วยแล้ว ยิ่งจะต้องทุ่มเทและตั้งใจด้วยความสม่ำเสมอ มอสยกตัวอย่างว่า “การแข่งขันวิ่งผลัด 4×100 เมตร ใช้เวลาแข่งขันเพียงแค่ไม่ถึง 1 นาที แต่ต้องใช้เวลาซ้อมกันเป็นปี” โดยที่ผ่านมาตนได้ไปเก็บตัวฝึกซ้อมที่อเมริกา กาต้าร์ และโปแลนด์ ซึ่งได้ร่วมตระเวนแข่งขัน เก็บสถิติเพื่อดึงศักยภาพของตนเองออกมาให้ได้มากที่สุด ตามมาตรฐานการแข่งขันระดับสากล การไปเก็บตัวต่างประเทศดังกล่าวทำให้ได้เจอเพื่อนคู่แข่งที่เก่งกว่าบ้าง สูสีกันบ้าง ถือเป็นประสบการณ์ที่สำคัญ เนื่องจากได้สัมผัสกับประสบการณ์ในระดับโลก

“บางครั้งการแข่งขันในเวทีต่างประเทศ มีนักวิ่งที่มีชื่อเสียงมากมาย แม้ศักยภาพของเรายังไม่เท่ากับเขา แต่เราได้ลงแข่งขันในแมตช์เดียวกันกับเขา จึงได้เรียนรู้วิธีการและเทคนิคของเขาเขา แล้วนำมาใช้พัฒนาตนเองได้”

หลายคนสงสัยและมักถามเสมอเรื่องแบ่งเวลา โดยเฉพาะการฝึกซ้อม การเรียนและครอบครัว “ผมเชื่อว่า…ไม่มีอะไรดีไปกว่าการวางแผน การพูดคุยสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจ” เรื่องการซ้อม การเรียนและครอบครัว เป็นเรื่องที่ขนานควบคู่กันอยู่แล้ว แต่เราต้องพูดคุยและหาจุดร่วมระหว่างกันให้ได้ เพื่อให้เกิดความลงตัว และจะทำให้เราสามารถทำงานได้ง่ายขึ้น ภายใต้การตระหนักถึงหน้าที่อันสำคัญของเรา นั่นคือการรับใช้ชาติด้วยการเป็นนักกรีฑาทีมชาติไทย

“คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยมองที่ต้นทางว่านักกีฬาต้องผ่านอะไรมาบ้าง ต้องซ้อมหนักแค่ไหน ทุ่มเทหนักอย่างไร หรือบาดเจ็บจากการฝึกซ้อมมากแค่ไหน เพราะเขาจะเห็นเพียงแค่ปลายทาง” เหนือสิ่งอื่นใดของการเป็นนักกรีฑา นั่นคือทีมนักกีฬาที่ร่วมแข่งขันด้วยกัน และกำลังใจแรงเชียร์ มอส ยืนยันอีกด้วยว่า “เสียงเชียร์ เสียงปรบมือ คือพลังที่ทำให้เราหายเหนื่อย”

กว่าที่ตนเองจะมาถึงจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและย้ำชัดว่าไม่ใช่โชคชะตา แต่เป็นเพราะความอดทนทุ่มเท ผสมผสานกับโอกาสอันสำคัญที่ได้รับอย่างต่อเนื่อง สิ่งหนึ่งที่อยากจะเอ่ยคือการตอบแทนและขอบคุณทุกฝ่าย ทั้งการกีฬาแห่งประเทศไทย สมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกทั้งสตาฟโค้ชต่าง ๆ รวมถึงกองทัพอากาศ และที่สำคัญอยากขอบคุณ มทร.ธัญบุรี ที่ให้การสนับสนุนอย่างอบอุ่นและผลักดันตนเองเสมอมา “จะตั้งใจทำงาน รับใช้ชาติ ด้วยการเป็นนักกรีฑามืออาชีพที่ดี และจะสร้างความภาคภูมิใจกับคนไทยทุกคนในโอกาสต่อไปให้ได้”

          น้อง ๆ หรือเพื่อนคนไหนที่อยากเป็นนักกีฬามืออาชีพดังเช่นนี้ ข้อแรกจะต้องมีพื้นฐานและความชอบกีฬาก่อน จากนั้นต้องลงมือทำ หาประสบการณ์การแข่งขันจากหลายเวที แล้วนำนำประสบการณ์เหล่านั้นมาเป็นแรงบันดาลใจ พัฒนาตนเองให้ดีกว่าเดิมอย่างต่อเนื่อง อีกส่วนจะต้องมีสตาฟโค้ชที่ดีด้วย จึงจะทำให้เราไปได้ไกล ขอเป็นกำลังใจให้กับเพื่อนนักกีฬาทุกคน และส่งกำลังใจให้กับผู้รักกีฬาทุกท่าน “กีฬานอกจากสร้างอาชีพได้แล้ว ยังสร้างบุคลิกภาพ สร้างสุขภาพที่ดีให้กับเราด้วย”

          มอส มองอนาคตในแมตช์ต่อไปด้วยการคาดหวังจะไปแข่งขันกีฬามหกรรมกีฬาโอลิมปิก Tokyo 2020 ด้วยการมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้สถิติผ่านควอลิฟาย และยังบอกอีกด้วยว่า “อยากทำให้คนไทยมีความสุข และจะนำธงชาติไทยไปโปกสะบัดในเวทีการแข่งขันต่อไปให้ได้”

 

           เรื่อง/อลงกรณ์ รัตตะเวทิน. มทร.ธัญบุรี.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]