คอลัมน์ มุมข้าราชการ: พระไตรปิฎก ฉบับภาษาอังกฤษ

ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2563
“ซี.12”
เมื่อตอนปลายปี 2562 ในราวต้นเดือนพฤศจิกายน เคยเขียนถึงนักวิชาการคนหนึ่งซึ่งเป็นกำลังสำคัญในโครงการแปลพระไตรปิฎกเป็นภาษาอังกฤษ
นั่นคือ ศ.ดร.มณีรัตน์ สวัสดิวัตน์ ณ อยุธยา ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งเป็น ภาคีสมาชิกราชบัณฑิต สำนักศิลปกรรม ราชบัณฑิตยสภา ประธานศูนย์พหุภาษาการแปลและการล่ามแห่งอาเซียน
บัดนี้โครงการดังกล่าวได้มีความคืบหน้าไปมากโดยรัฐบาลรับเป็นเจ้าภาพในเรื่องนี้ มีมติ ครม.เมื่อวันที่ 2 มกราคมที่ผ่านมา ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการโครงการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ (Tipitaka English Version) ขึ้นตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอโดยแต่งตั้งคณะกรรมการเป็น 2 คณะ คือ
1.คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ 2.คณะกรรมการอุปถัมภ์โครงการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ
คณะกรรมการอำนวยการโครงการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ ประกอบด้วย สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก เป็นประธานกรรมการกรรมการมหาเถรสมาคม จำนวน 19 รูป เป็นกรรมการ และพระพรหมบัณฑิต เป็นกรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการอุปถัมภ์โครงการจัดทำพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 1 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นรองประธานกรรมการคนที่ 2 ปลัดกระทรวง จำนวน 20 กระทรวงนายกราชบัณฑิตยสภา ผู้อำนวยการศูนย์พหุภาษาการแปลและล่ามแห่งอาเซียน เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและอธิบดีกรมการศาสนา เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม และมีกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการร่วมอีกจำนวน 4 ราย
คณะกรรมการทั้ง 2 คณะดังกล่าว มีหน้าที่สนับสนุนและให้คำแนะนำในการดำเนินงานจัดทำพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษ ตลอดจนมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงาน เพื่อให้การจัดทำพระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษแล้วเสร็จ
คุณค่าของเรื่องนี้ก็คงเป็นไปตามที่เคยทำบันทึกไว้ในคราวแรกว่า เป็นเวลากว่า 2,500 ปีที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ออกเผยแผ่พระพุทธศาสนา แต่ยังไม่มีการแปลพระไตรปิฎกออกมาครบถ้วนเป็นภาษาอังกฤษอันเป็นภาษากลาง ตามมาตรฐานการแปลสากลให้เป็นฉบับสมบูรณ์ฉบับแรกของโลก
โครงการนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในเวลา 3 ปี โดยจะแสวงหานวัตกรรมสมัยใหม่ในระดับ Big data, AI, Deep learning และ Block chain ที่จะช่วยให้การทำงานรวดเร็วมีประสิทธิภาพ
เมื่อสำเร็จแล้วการแปลพระไตรปิฎกจากภาษาอังกฤษออกไปเป็นภาษาอื่นๆจะมีความสะดวกมากยิ่งขึ้น แบบเดียวกับที่พระคัมภีร์ไบเบิล มีการแปลออกไปมากกว่า 2,000 ภาษา.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]