คอลัมน์ ด้วยสมองและสองมือ: ‘มทร.ธัญบุรี’ แปรรูปเพิ่มมูลค่าจาก ‘ขยะทะเล’ เป็นวัสดุก่อสร้าง

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2562
จากที่ประเทศไทยมีขยะทะเลติดอันดับหกของโลก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พร้อมนักวิจัยด้านวัสดุและด้านสิ่งแวดล้อมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทำวิจัยโครงการ “ทะเลไทยไร้ขยะ” โดย อาจารย์ ดร.ประชุม คำพุฒ และว่าที่ร้อยเอก ดร.กิตติพงษ์ สุวีโร หน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ได้นำขยะจากทะเลไทยมาเพิ่มมูลค่าอ.ดร.ประชุม กล่าวว่า ในปีแรกมุ่งเน้นนำขยะทะเลประเภทขยะพลาสติก ทั้งพลาสติกที่รีไซเคิลได้ คือ ขวดน้ำพลาสติกและพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวไม่นิยมนำรีไซเคิล ประกอบด้วย ถุงพลาสติกหูหิ้วแก้วน้ำพลาสติก ฉลากพลาสติกข้างขวดหลอดดูดน้ำพลาสติก ซึ่งขยะพลาสติกเหล่านี้เป็นปัญหาหลักของประเทศ
ในปีแรก คณะวิศวกรรมศาสตร์มทร.ธัญบุรี ได้ทำวิจัยผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เช่น ถังขยะพลาสติก ด้วยกระบวนการขึ้นรูปแบบหมุนจากขวดและฝาขวด ผลงานของ ดร.ณรงค์ชัย โอเจริญ ผลิตภัณฑ์วัสดุผนังสามมิติตกแต่งภายในอาคารจากขยะพลาสติก โดย ผศ.ดร.ธรรมศักดิ์ โรจน์วิรุฬห์ ผลิตภัณฑ์วัสดุกระเบื้องยางปูพื้นยางพาราผสมขยะพลาสติก โดย ผศ.วรุณศิริจักรบุตร และผลิตภัณฑ์วัสดุปูพื้นจากขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียว ของหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่สามารถนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม
ในการลงพื้นที่เก็บขยะของชุมชนและกลุ่มอนุรักษ์ทะเลไทย ตลอดจนการจัดกิจกรรมของภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ รวบรวมขยะ นำไปแยกประเภท ทำความสะอาดบดย่อยเป็นมวลรวมแทนที่มวลรวมปกติบางส่วน ตามปริมาณที่เหมาะสม โดยเลือกกระบวนการเทคโนโลยีการทำปฏิกิริยาระหว่างปูนซีเมนต์กับน้ำเป็นสารเชื่อมประสานให้เป็นก้อนวัสดุแข็ง เพื่อหลีกเลี่ยงเกิดมลพิษต่อผู้ผลิตและผู้ใช้งาน
ผลิตภัณฑ์ที่ได้ คือ กระเบื้องคอนกรีต ปูพื้นและบล็อกประสานปูพื้น โดยมีอัตราส่วนผสมเศษขยะพลาสติกมากหรือน้อยขึ้นกับชนิดของพลาสติกที่นำมาใช้อย่างไรก็ดี หากนำพลาสติกทุกชนิดมาบดย่อยรวมกันก็สามารถใช้งานได้เลย ซึ่งนับเป็นข้อได้เปรียบของการผลิตกรรมวิธีนี้เพราะสามารถใช้ขยะพลาสติกได้ทุกชนิดและผลิตภัณฑ์ยังได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)
“ข้อเด่นของวัสดุก่อสร้างที่ทำจากขยะทะเล ยังมีน้ำหนักเบา ลดสะสมความร้อนได้ดีกว่าวัสดุประเภทเดียวกันทั่วไปที่จำหน่ายในท้องตลาด สร้างสรรค์ออกแบบรูปทรงรูปร่างที่สวยงามแตกต่าง”
เป็นการยกระดับงานวัสดุตกแต่งทางสถาปัตยกรรม มีการทำสี ลวดลายผิวหน้าตามต้องการ นำไปใช้งานได้หลากหลายทั้งก่อสร้างและตกแต่ง เป็นวัสดุเฟอร์นิเจอร์ในอาคารอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน โดยใช้ขยะพลาสติกจากทะเลให้เกิดประโยชน์ถึงเกือบ 100% ด้วยอุปกรณ์เครื่องมือการผลิต ไม่ยุ่งยากซับซ้อน ต้นทุนต่ำ จึงคุ้มค่าในการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์เป็นทางเลือกใหม่ของวัสดุก่อสร้างแนวอนุรักษ์ธรรมชาติสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันได้นำไปใช้ขยายผลในทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน ประกอบด้วย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่แถบชายทะเล นำร่อง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรีปีต่อไปจะขยายผลไปยังชุมชนขุนสมุทรจีนจ.สมุทรปราการ ภาคเอกชนมีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ ต้องการนำไปใช้เป็นต้น ทั้งยังขยายผลไปถึงชุมชนบนพื้นที่สูงซึ่งเป็นต้นทางขยะพลาสติกอีกด้วย เช่นชุมชนเมืองจัง จ.น่าน
ว่าที่ร้อยเอก ดร.กิตติพงษ์ กล่าวว่าการเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกนอกจากเป็นโจทย์วิจัยของสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) แล้ว ยังเป็นโจทย์วิจัยเชิงพื้นที่ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เช่นกัน จึงนำขยะพลาสติกชุมชนที่เหลือทิ้งก่อนลงสู่ทะเลจำพวกขวดพลาสติกสีที่โรงงานรีไซเคิลรับซื้อในราคาที่ถูกมากและบางโรงงานไม่รับซื้อ มาเพิ่มมูลค่าเป็นบล็อกปูพื้นใช้งานในชุมชน
มีข้อที่พึงระวังคือการบดย่อยขยะพลาสติก ให้มีขนาดที่บดย่อยแล้วต้องไม่น้อยกว่า 5 มม. เพื่อป้องกันไมโครพลาสติกไหลลงทะเลในอนาคต หากบล็อกปูพื้นเสียหายจากการใช้งานปกติทั่วไป
ผลงานดังกล่าว ยังการันตีด้วยรางวัลจากประเทศมาเลเซีย และรางวัลพิเศษโดย World Invention Intellectual Property Associationsประเทศไต้หวันจากการประกวดงาน30th INTERNATIONAL INVENTION, INNOVATION & TECHNOLOGY EXHIBITION 2019 (ITEX’19) ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ได้ยื่นจดทรัพย์สินทางปัญญาในส่วนที่เกี่ยวข้อง หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือต้องการนำไปต่อยอดขยายผลผลิต-จำหน่ายในเชิงพาณิชย์สอบถามหน่วยวิจัยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม0-2549-3410

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]