เปิด “ครัวลูกบัวสวรรค์” นศ.ปลูกผัก-ทำอาหารกินฟรี “ที่พึ่งพายามหิว”

ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2562

นายว้าก/รายงาน
สภาพเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัวในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อปัญหาปากท้องของหลายต่อหลายครอบครัว
ไม่เว้นแม้กระทั่งนิสิตและนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัย เมื่อครอบครัวได้รับความเดือดร้อนจึงหนีไม่พ้นที่จะได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ตามมาในที่สุดทั้งเรื่องชีวิตความเป็นอยู่และการเรียน
เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนให้กับลูกศิษย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลม (มทร.) ธัญบุรี โดย ผศ.วิรัช โหตระไวศยะ รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.ธัญบุรี จึงสนับสนุนให้มีการจัดตั้ง “ครัวลูกบัวสวรรค์” ขึ้นให้ลูกศิษย์ที่ครอบครัวกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจได้มีที่พึ่งในยามหิว
กิจกรรมดีๆและสร้างสรรค์แบบนี้ มีที่มาที่ไปอย่างไร “นายว้าก” ไม่พลาดที่จะไปเจ๊าะแจ๊ะถามไถ่เจ้าของโปรเจกต์ ผศ.วิรัช สาธยายว่า “มทร.ธัญบุรีเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับนักศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งยุคเศรษฐกิจตกสะเก็ดในปัจจุบัน เนื่องจากลูกศิษย์ของเราส่วนใหญ่เป็นเด็กต่างจังหวัด หลายครอบครัวเมื่อติดขัดในเรื่องรายได้จึงส่งผลกระทบมาถึงลูกๆที่มาเรียนในมหาวิทยาลัย ด้วยเหตุนี้ มทร.ธัญบุรีจึงพยายามหาทางช่วยเหลือนักศึกษา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและหนึ่งในหลายๆเรื่องที่ได้ทำคือ การจัดตั้ง “ครัวลูกบัวสวรรค์” ให้นักศึกษาที่ขาดแคลนได้ปลูกผักสวนครัวภายในมหาวิทยาลัย บริเวณรอบหลังสนามฟุตบอล และเก็บผลผลิตมาประกอบอาหารรับประทานได้ฟรีด้วยตนเอง ตามแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยโครงการนี้มี ผศ.ณัฐ แก้วสกุล รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองพัฒนานักศึกษา เป็นกำลังหลัก ทั้งยังมีศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชา มทร.ธัญบุรี ศูนย์การเรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา บึงกาสาม วัดนิเวศน์ธรรมาราม ศูนย์จิตอาสา มทร.ธัญบุรี ชมรมราชมงคลจิตอาสา องค์การนักศึกษาและสภานักศึกษาเข้ามาช่วยกันบริจาค จัดหาทุนและวัตถุดิบด้านอาหาร เพื่อให้นักศึกษาได้เข้ามาประกอบอาหารรับประทานฟรีด้วยตนเอง”
ขณะที่ ผศ.ณัฐ ร่วมให้ข้อมูลว่า “โครงการครัวลูกบัวสวรรค์ไม่ได้ใช้งบประมาณในการดำเนินการ แต่ใช้กำลังและความร่วมมือในการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ที่ตั้งใจมาบริจาคทั้งข้าวสาร อาหารแห้ง อุปกรณ์เครื่องครัว น้ำดื่ม เครื่องปรุง และวัตถุดิบ เชื่อว่าโครงการนี้จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างวิถีชีวิตในมหาวิทยาลัยแก่นักศึกษา ให้เรียนรู้ลงมือทำด้วยตนเองภายใต้ความพอเพียง”
มาฟังเสียงบรรดาวัยโจ๋ มทร.ธัญบุรี 3 หนุ่ม 1 สาว จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ชั้นปีที่ 2 ที่เข้ามาใช้บริการภายใน “ครัวลูกบัวสรรค์” กันบ้างเริ่มจาก “เต๋อ” วศิน อุนหวงษ์ เล่าว่า “ผมเป็นลูกคนที่ 2 พ่อและแม่ต้องรับภาระในการส่งเสียต่อเดือนค่อนข้างสูง ที่ผ่านมาบางเดือนเกิดขัดสนทำให้ต้องปรับลดค่าใช้จ่ายบางส่วนออกไป พอประสบปัญหาค่าใช้จ่าย เห็นว่ามหาวิทยาลัยจัดโครงการนี้จึงเข้าร่วม โดยเข้าไปประกอบอาหารอย่างง่ายจำพวกไข่เจียว ผัดกะเพราหมูสับ รวมถึงยำปลากระป๋อง มองว่าเป็นโครงการที่ดีมาก ได้ช่วยเหลือนักศึกษาจริงสิ่งหนึ่งที่อยากทำเพื่อตอบแทนมหาวิทยาลัยนั่นคือการตั้งใจเรียนเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ และอยากให้มีโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง”
ขณะที่ “ติ่งลี่” กรศิษฎ์ บุญรักษาบอกว่า “ครัวลูกบัวสวรรค์เป็นโครงการที่ตอบโจทย์นักศึกษามากที่สุดอีกโครงการหนึ่ง ความขาดแคลน ความไม่มีและการประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ สามารถเกิดขึ้นได้ สิ่งสำคัญคือการหาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหา ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยที่มองเห็นและให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีเพื่อให้วิถีชีวิตของนักศึกษาได้มีโอกาสก้าวต่อไป จากประสบการณ์ที่เคยใช้บริการครัวลูกบัวสวรรค์ พบว่าสภาพครัวมีความพร้อมทั้งวัตถุดิบเครื่องปรุงและอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ สามารถรองรับความต้องการของนักศึกษาได้มาก วัตถุดิบ และผักบางส่วนก็จะมาจากการเพาะปลูกของนักศึกษาในพื้นที่มหาวิทยาลัย เมื่อมหาวิทยาลัยสนับสนุนนักศึกษาอย่างเต็มที่แล้ว นักศึกษาก็ควรต้องตั้งใจเรียน รู้จักใช้ทรัพยากรภายในมหาวิทยาลัยอย่างรู้คุณค่า”
ส่วน “บี้” พงษ์พัฒน์ แป้งเทา จากสโมสรนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ฝ่ายพัสดุ ร่วมแชร์ประสบการณ์ว่า “ช่วงที่ผ่านมา แม่ของผมมีสุขภาพไม่แข็งแรงต้องลาออกจากงาน ภาระจึงตกหนักที่พ่อ จึงต้องอดออม และจำกัดค่าใช้จ่ายลง โดยเฉพาะค่าอาหารการกิน แต่เมื่อทราบว่าทางมหาวิทยาลัยมีโครงการที่มาเติมเต็ม จึง สนใจเข้าร่วม ไปทำอาหารในช่วงเช้าและเที่ยง เริ่มตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบ การประกอบอาหาร รวมถึงการล้างและจัดเก็บอุปกรณ์เข้าที่เดิม ตัวอย่างอาหารที่ทำ เช่น ไข่เจียวหมูสับ ผัดพริก ซึ่งใช้เวลาปรุงไม่นานส่วนข้าวนั้นทางโครงการจะหุงเตรียมไว้ให้แล้ว”
ปิดท้ายที่สาวร่างเล็ก “เพลง” เบญญาภา อาจจีน เล่าเสียงดังฟังชัดว่า “อาหารในแต่ละวันมีราคาสูงขึ้น ตกมื้อละประมาณ 40-50 บาท ต้องขอบคุณมหาวิทยาลัยที่จัดโครงการเพื่อนักศึกษาอย่างแท้จริง ชีวิตความเป็นอยู่ของนักศึกษามีหลายระดับ บางคนอาจอดมื้อกินมื้อ พอมีโครงการเช่นนี้เข้ามาก็ช่วยให้นักศึกษาที่ประสบปัญหาได้อิ่มท้องและก้าวผ่านไปได้ โดยได้เข้ามาทำอาหารกับเพื่อน ทั้งต้มจืด ผัดผักบุ้ง ไก่ทอด ซึ่งเป็นอาหารที่ทำไม่ยาก ใช้เครื่องปรุงไม่เยอะ หลังจากทำเสร็จก็จะช่วยกันเก็บล้างเพื่อให้เพื่อนๆคนถัดไปได้เข้ามาใช้บริการต่อ นอกจากขอบคุณมหาวิทยาลัยแล้วต้องขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยแบ่งปันในครั้งนี้”
เห็นความตั้งใจของผู้บริหาร มทร.ธัญบุรี ที่ได้เห็นความสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับนักศึกษาแบบนี้แล้ว “นายว้าก” ขอปรบมือเป็นกำลังใจให้ดังๆ
ส่วนใครที่สนใจร่วมสนับสนุนโครงการ บริจาคได้ที่กองพัฒนานักศึกษา มทร.ธัญบุรี โทร. 0-2549-4028
ร่วมกันแบ่งปันน้ำใจ สนับสนุน “ครัวลูกบัวสวรรค์” เติมเต็มอนาคตของชาติ.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]