คอลัมน์ บอกกล่าว เล่าความ: คืออะไร…’เปลี่ยนขยะพลาสติกคืนสู่สภาพเริ่มต้น’

เดลินิวส์ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2562
อรนุช วานิชทวีวัฒน์
ผ่านไปแล้วกับงาน “นวัตกรรมสร้างสรรค์ RT62” บนเส้นทางการศึกษา ผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ สู่มหาวิทยาลัยแห่งนวัตกรรม พร้อมกับการเปิดบ้านโชว์ผลงานนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ และงานวิจัยของ คณะสาขาต่าง ๆ ซึ่งปรากฏว่ามีนักเรียน นักศึกษาให้ความสนใจเข้าร่วมงานอย่างล้นหลาม ซึ่ง ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสอาด รองอธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า เป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 44 ปี ของ มทร.ธัญบุรี ซึ่งได้สั่งสมผลงานที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และงานวิจัย มาจัดแสดง โดยมีเป้าหมายให้ทุกคนได้เห็นว่าเราทำอะไรกันบ้าง และเป็นการดึงดูดนักเรียนมัธยมศึกษา และนักเรียน นักศึกษา จากวิทยาลัยอาชีวศึกษา ให้ได้มาเห็นว่าเรามีการจัดการเรียนการสอนอย่างไร มีผลงานอะไรบ้าง ซึ่งเด็ก ๆ ก็ได้มาเห็นแล้วว่า การเรียนการสอนของ มทร.ธัญบุรี เราเรียนจริงปฏิบัติจริง มีผลงานจริงสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงในเชิงอุตสาห กรรม จบแล้วมีงานทำแน่นอน ซึ่งอัตราการมีงานของเราสูงกว่า 90
“ถ้าพูดถึงความเป็นนานาชาติ ผมกล้าพูดว่า มทร.ธัญบุรี เรามีความเป็นนานาชาติสูงมาก ทุกคนที่มาเรียนที่นี่ มีสิทธิได้ไปฝึกงาน หรือ สหกิจศึกษาต่างประเทศ ซึ่งถ้ามีผลการเรียนดี ก็ มีโอกาสได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย หรือ มีทุนจากกองทุนพัฒนานักศึกษาอีกด้วย ที่ผ่านมาเราทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศหลายแห่ง เพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกฝนเพื่อให้ได้รับประสบการณ์จริง โดยแต่ละปีจะมีเด็กที่ออกสหกิจศึกษาในต่างประเทศประมาณ 400 คน ส่วนในประเทศทุกคนจะต้องผ่านการฝึกประสบการณ์วิชาชีพ ซึ่งเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งทำให้เด็กจบแล้วมีงานทำตรงกับสาขาที่เรียนมา” ผศ.ดร.สมหมาย กล่าว
ในงานนี้มีผลงานวิจัย นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์มาโชว์อย่างนับไม่ถ้วนจริง ๆ ซึ่งหลายชิ้นมีความน่าสนใจ และแทบทุกชิ้นสามารถต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรมได้ ด้วย อย่างงานวิจัย “เครื่องต้นแบบกระบวน การไพโรไลซิส” โดย ผศ.ดร.ณัฐชา เพ็ชร์ยิ้ม อาจารย์ประจำภาควิชาเคมีและวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ที่สามารถเปลี่ยนขยะพลาสติกโดยผสมกับน้ำมันเครื่องที่ใช้แล้วให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ซึ่งงานวิจัยนี้ถือเป็นความสำเร็จที่ขยายผลการทดลองจากในระดับห้องปฏิบัติการมาสู่โรงงานต้นแบบที่จะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการลดปริมาณขยะ
ผศ.ดร.ณัฐชา กล่าวว่า เนื่องจากปัญหาในการกำจัดขยะพลาสติกในรูปของขยะสะสม หรือ ขยะฝังกลบ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณปีละ 2 ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น แต่มีการนำขยะพลาสติกไปใช้ประโยชน์โดยเฉลี่ยปีละประมาณ 0.5 ล้านตันเท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 1.5 ล้านตัน ยังเป็นปัญหาที่ยากต่อการกำจัด ซึ่งการฝังกลบก็มีปัญหาการสลายตัวช้ามาก หากนำไปเผาก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของงานวิจัยชิ้นนี้ ซึ่งเราสามารถพัฒนาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนได้ โดยงานวิจัยนี้จะนำขยะพลาสติกมาเข้าสู่กระบวนการไพโรไลซิสร่วมกับน้ำมันเครื่องใช้แล้ว ทำให้ได้ผลิตภัณฑ์ 2 ส่วน คือ น้ำมันดีเซล กับ น้ำมันเบนซิน โดยน้ำมันดีเซลที่ได้จากเครื่องต้นแบบนี้ได้ทำการทดสอบมาตรฐานแล้ว ปรากฏว่าผ่านมาตรฐานน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว ส่วนเบนซินนั้นยังไม่ได้ทำการทดสอบค่าออกเทนแต่ก็สามารถนำไปใช้ได้แล้ว และจากกระบวนการไพโรไลซิสด้วยเครื่องต้นแบบนี้ยังทำให้ได้แก๊สที่สามารถวนกลับมาใช้ในการกระบวนการเพื่อลดต้นทุนของพลังงานในกระบวนการผลิตได้ ที่สำคัญยังสามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะหากเราไม่นำแก๊สกลับมาใช้ประโยชน์แก๊สที่ออกมาก็จะถูกปล่อยออกสู่บรรยากาศซึ่งก่อให้เกิดมลพิษได้ นอกจากนี้กระบวนการไพโรไลซิสยังมีกากของแข็งสีดำออกมาด้วย ซึ่งเมื่อนำมาผสมกับขี้เลื่อยก็ใช้ผลิตเป็นเชื้อเพลิงอัดแท่งสามารถนำไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้
“กระบวนการที่ใช้พลังงานความร้อนสูงเพื่อสลายพันธะโมเลกุลของสารไฮโดรคาร์บอน มีความแตกต่างจากการเผาไหม้ คือ สภาวะที่ใช้ต้องเป็นสภาวะที่มีออกซิเจนน้อยมากหรือปราศจากออกซิเจน ได้สารไฮโดรคาร์บอนที่มีโมเลกุลเล็กลง เหมือนเป็นการทำปฏิกิริยาย้อนกลับของการเกิดพลาสติก ซึ่งพลาสติกเกิดจากน้ำมันดิบและแก๊สธรรมชาติ เราก็ทำปฏิกิริยาย้อนกลับโดยใช้ความร้อนทำให้พลาสติกกลับคืนสู่สภาพเริ่มต้น เป็นผลิตภัณฑ์กลุ่มปิโตรเลียมที่สามารถนำกลับไปใช้งานซ้ำ และเป็นการลดปริมาณขยะได้ด้วย” ผศ.ดร.ณัฐชา กล่าวและว่า งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการสร้างเครื่องต้นแบบที่จะผลิตผลิตภัณฑ์น้ำมันคุณภาพดี โดยมีการทดลองกำหนดสัดส่วนน้ำมันเครื่องกับขยะพลาสติกจนได้สัดส่วนที่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมาผู้ประกอบการจะมีปัญหาในการผลิตน้ำมัน เพราะน้ำมันที่ได้ไม่ผ่านมาตรฐานดีเซลจะเป็นแค่เกรดน้ำมันเตา ซึ่งไม่คุ้มกับกระบวนการผลิต
เจ้าของผลงานย้ำว่า งานวิจัยชิ้นนี้สามารถแก้ปัญหาขยะได้ เพราะน้ำมันเครื่องใช้แล้วเวลาถ่ายน้ำมันเครื่องออกจากรถคนส่วนใหญ่ก็จะไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรต่อได้บ้าง ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการจะนำไปปรับปรุงคุณภาพแล้วขายเป็นเกรดน้ำมันเตา แต่งานวิจัยชิ้นนี้น้ำมันเครื่องที่นำมาผสมจะเป็นตัวส่งเสริมการถ่ายเทความร้อนในเตาปฏิกรณ์ ทำให้ลดระยะเวลาในการเกิดปฏิกิริยาได้ และยังสามารถปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นได้ด้วย
นับเป็นอีกหนึ่งงานวิจัยที่สามารถตอบโจทย์ของประเทศได้อย่างน่าสนใจ.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]