กังหันลมผลิต-แผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ พลังงานทดแทน เพื่อชุมชนสีเขียว

           ผลจากโครงการวิจัย “ต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสานขนาด 15 กิโลวัตต์ ต้นแบบประยุกต์ใช้งานจริงเพื่อชุมชนสีเขียว” จากกังหันลมผลิตไฟฟ้าความเร็วลมต่ำขนาด 10 กิโลวัตต์และเซลล์แสงอาทิตย์หรือแผงโซลาร์เซลล์ชนิดทนต่อการกัดกร่อนของแอมโมเนียและอุณหภูมิสูง ขนาด 5 กิโลวัตต์ ซึ่งจะช่วยผลักดันต้นแบบชุมชนสีเขียว สร้างจิตสำนึกประชาชนรักสิ่งแวดล้อม
ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ วช.เปิดเผยว่า พลังงานทดแทนมีส่วนช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ โดยเฉพาะกระแสไฟฟ้า จึงมีความสำคัญและถือเป็นความต้องการพื้นฐานของประชาชน อย่างไรก็ตาม การใช้พลังงานทดแทนในปัจจุบันยังคงมีปัญหาต่างๆ อีกมาก วช. ได้มอบทุน ภายใต้แผนงานวิจัยตอบสนองนโยบายรัฐบาล กลุ่มเรื่องพลังงานทดแทน (โครงการท้าทายไทย) กิจกรรม ส่งเสริมสนับสนุนการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาพลังงานทดแทนและการประยุกต์ใช้ในชุมชนสีเขียว” แก่ ศ.ทนงเกียรติ  เกียรติ ศิริโรจน์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะ เพื่อศึกษาวิจัยและนำองค์ความรู้ และเทคโนโลยีจากผลการวิจัยด้านพลังงานไปใช้ในชุมชน ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน และใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อพัฒนาชุมชนให้กลายเป็นชุมชนสีเขียว

          ศ.ทนงเกียรติกล่าวว่า การดำเนินงานของโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยภายใต้โครงการพัฒนาพลังงานทดแทนและการประยุกต์ใช้ในชุมชนสีเขียว มีทั้งหมด 8 โครงการ ซึ่งสามารถนำผลการวิจัยมาประยุกต์ใช้งานได้จริง โดยเฉพาะโครงการต้นแบบโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแบบผสมผสาน ขนาด 15 กิโลวัตต์ ที่สามารถประยุกต์ใช้งานจริงได้แล้วเพื่อสร้างชุมชนสีเขียว ซึ่งเป็นการดำเนินงานของศูนย์วิจัยและบริการด้านพลังงาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดย ผศ.ดร.วิรชัย โรยนรินทร์ และคณะ โดยใช้พื้นที่สนามกีฬากลาง จังหวัดชัยภูมิ ที่อยู่ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดชัยภูมิเป็นต้นแบบ โดยมีนายมนตรี ชาลีเครือ นายก อบจ.ชัยภูมิ เป็นผู้ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือโครงการอีกด้วย
สนามกีฬากลาง จ.ชัยภูมิ เป็นที่ออกกำลังกายและเป็นที่พักผ่อนของประชาชน เนื่องด้วยการนำพลังงานลมและแสงอาทิตย์มาผลิตไฟฟ้าร่วมกัน ทำให้การทำงานของระบบจะช่วยประหยัดไฟฟ้าให้กับพื้นที่ไม่น้อยกว่าวันละประมาณ 100 หน่วยไฟฟ้าต่อวัน คิดเป็นมูลค่าการลดค่าใช้จ่ายกระแสไฟฟ้าปีละประมาณสองแสนกว่าบาท สามารถเพิ่มเวลาในการออกกำลังกายให้ประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น รวมถึงระบบบำบัดน้ำเสียด้วยพลังงานทดแทน หนองปลาเฒ่า จ.ชัยภูมิ ซึ่งสามารถใช้เป็นพื้นที่ต้นแบบของชุมชนสีเขียวในการสร้างจิตสำนึกให้ประชาชนช่วยกันรักษา สิ่งแวดล้อมและให้ความสำคัญในการช่วยกันประหยัดพลังงาน หันมาส่งเสริมการใช้พลังงานจากธรรมชาติกันมากขึ้น ทำให้ลดปัญหามลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักในการเกิดภาวะโลกร้อน และคาดว่าโครงการดังกล่าวจะกลายเป็นต้นแบบที่ดีสำหรับชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ
ผศ.วิรชัย โรยนรินทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยด้านพลังงาน คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวว่า ในอดีตหนองปลาเฒ่าเป็นแหล่งน้ำเน่าเสียที่ส่งกลิ่นเหม็น แต่ปัจจุบันจากการกั้นน้ำและติดตั้งกังหันลมและแผงโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเพื่อสร้างพลังงานในการขับเคลื่อนกระแสน้ำทั้งการสูบน้ำเสียเข้าไปเพื่อบำบัดและปล่อยน้ำสะอาดออกมา เพื่อบำบัดน้ำไม่ให้เน่าเสียแบบเป็นวงจร สามารถช่วยให้แหล่งน้ำนั้นกลับมาสะอาดและไม่เน่าเหม็นได้อีกครั้ง ซึ่งถือเป็นการบำบัดแบบยั่งยืน รวมทั้งการใช้ระบบผลิตพลังงาน ณ สนามกีฬากลาง จ.ชัยภูมิ ที่ก็มีการผสมผสานทั้งจากพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งจากกังหันลม 10 กิโลวัตต์ และแผงทุ่นโซลาร์เซลล์ลอยน้ำขนาด 5 กิโลวัตต์ก็เช่นกัน และมั่นใจได้ว่าทั้งกังหันลมและแผงโซลาร์เซลล์มีความปลอดภัย จะไม่เกิดไฟฟ้ารั่วไหลหรือไฟฟ้าชอร์ตแต่อย่างใด โดยเฉพาะหากเกิดสภาพอากาศแปรปรวนตัวเครื่องจะทำการเบรกตัวเองและหยุดการทำงานได้โดยอัตโนมัติ
ในอนาคตสามารถต่อยอดเป็นกังหันผลิตไฟฟ้าขนาด 100 กิโลวัตต์ ที่สามารถทำได้จริง ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณราว 11 ล้านบาท ขณะที่หากใช้กังหันลมขนาด 10 กิโลวัตต์ จะต้องใช้ถึง 10 ตัว เพื่อให้พลังงานเทียบเท่า ซึ่งจะใช้งบประมาณราว 23 ล้านบาท แน่นอนว่าตัวกังหันลมขนาด 100 กิโลวัตต์ สามารถประหยัดงบประมาณมากกว่ากังหันลม 10 กิโลวัตต์ ได้ถึง 12 ล้านบาท ในปริมาณพลังงานที่ให้เท่ากัน
ดังนั้นกังหันลมขนาดยักษ์ที่ถูกพัฒนาขึ้นจะให้ประสิทธิภาพและคุณภาพได้ดีกว่าเดิม

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]