คอลัมน์ บอกกล่าว เล่าความ: ‘วินัย ตาระเวช’ ครู…ผู้สร้าง ‘นักคหกรรมศาสตร์’

          ยอดครูของนักศึกษา ผู้สร้างนักคหกรรมศาสตร์ บนเส้นทางประสบการณ์กว่า 24 ปี ส่งศิษย์ถึงฝั่งฝัน สู่อาชีพงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ เลี้ยงตนเองและครอบครัว
ผศ.วินัย ตาระเวช อาจารย์สาขา วิชาเทคโนโลยีงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี ที่ชีวิตพลิกผันจากการทุ่มเททำงานจนต้องนอนโรงพยาบาลนานหลายวัน  มีลูกศิษย์ลูกหาแวะเวียนไปเยี่ยมและผลัดกันดูแลตลอด ทำให้พยาบาลสงสัยว่าเขาคือใครและได้หาข้อมูลจนแพทย์ผู้ทำการ รักษาถึงกับออกปากว่า “หมอจะดูแลอาจารย์เป็นอย่างดี เพราะอาจารย์ต้องกลับไปช่วยคนอีกหลายชีวิต” เป็นเหตุให้อาจารย์ตั้งปณิธานว่า ถ้าหายป่วย จะดูแลสุขภาพให้ดี สร้างสรรค์ผลงานให้มากขึ้น รวมถึงช่วยเหลือผู้คน โดยเฉพาะนักศึกษาเพื่อสร้างโอกาสแก่พวกเขา

          ผศ.วินัยมีผลงานที่เป็น ที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนในหลายโอกาสสำคัญ เช่น ประดิษฐ์พระประทีปถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช, ออกแบบควบคุมจัดดอกไม้หน้าพระโกศและพระเมรุ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก, จัดทำประติมากรรมดอกไม้แห้งงานดอกไม้แห่งราชัน บุหงาโครงการหลวง, ถวายงานออกแบบควบคุมการจัดดอกไม้ห้องประทับสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี งานพระราชทานปริญญาบัตรกลุ่ม มทร. ตั้งแต่ปี 2539 จนถึงปัจจุบัน รวมถึงประดิษฐ์พวงมาลาที่ใหญ่ที่สุดในโลก น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหา สังฆปริณายก ควบคู่กับการร่วมประกวดแข่งขัน เพื่อสืบสานงานศิลป์และพัฒนาฝีมือ จนได้รับรางวัลมากมายนับไม่ถ้วน
ผศ.วินัย กล่าวว่า นักศึกษาคหกรรม ศาสตร์ ส่วนใหญ่ฐานะไม่ค่อยดี บางครั้งเวลาที่เด็ก ๆ ทำงานเพื่อส่วนรวม อาจทำให้กลับบ้านช้ากว่าปกติ เราก็ช่วยสนับสนุนอาหารและเครื่องดื่ม เพราะเราอยู่กันแบบครอบครัว ดูแลกัน บางคนเราก็ช่วยหาทุนให้ โดยมีข้อคิดในการทำงาน คือ ต้องมีทัศนคติที่ดีต่อสิ่งที่ทำ เพื่อให้เราทำงานอย่างมีความสุข เกิดพลังการทำงานและงานก็จะประสบผลสำเร็จได้ ถ้าจะถามถึงการส่งนักศึกษาให้ไปถึงฝัน สามารถประกอบวิชาชีพ หาเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้นั้น ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ซึ่งต้องอาศัยหลายปัจจัย แต่ก็จะย้ำเสมอว่า “ต้องวางอนาคตตัวเอง เรียนรู้แบบอย่างของรุ่นพี่ที่ก้าวหน้า ต้องเป็นนักลงมือปฏิบัติ ต้องขยัน เป็นจิตอาสา รู้จักช่วยเหลือสังคม ไม่ละทิ้งงานเมื่อได้รับมอบหมาย” ซึ่งจากประสบการณ์ถ้านักศึกษาเดินตามที่ย้ำ คนไหนคนนั้นประสบความสำเร็จแน่นอน
“คนที่จะเข้ามาเรียนสาขาวิชานี้ ไม่ใช่มองว่าใช้เพียงความคิดสร้างสรรค์ แล้วจะเป็นมืออาชีพที่มีชื่อเสียงได้ แต่ต้องค้นหาความชอบของตัวเราให้เจอก่อน เพื่อจะได้เข้าสู่โลกอาชีพได้อย่างมั่นคง แม้ว่าเทคโนโลยีจะขับเคลื่อนไม่หยุดยั้ง คหกรรมศาสตร์ก็ไม่มีวัน ตาย แต่จะมาช่วยเสริมให้งานคหกรรมศาสตร์สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ลดระยะเวลาการทำงาน ช่วยส่งเสริมด้านการตลาด และที่แน่นอนที่สุด นักคหกรรมศาสตร์ ยังคงต้องใช้รสมือในการปรุงอาหาร ประดิษฐ์ผลงาน เย็บปักถักร้อย ที่ถือเป็นเสน่ห์และความสามารถเฉพาะบุคคล ซึ่งหุ่นยนต์ไม่สามารถเลียนแบบหรือทำแทนได้” ผศ.วินัยกล่าวพร้อมกับย้ำว่า “จะสร้างงานประดิษฐ์สร้างสรรค์อย่างวิจิตรต่อไป อย่างน้อยที่สุดก็เพื่อแสดงให้ทุกคน เห็นถึงคุณค่าวิชาชีพนี้ และจะปั้นนักคหกรรมศาสตร์ด้วยความตั้งใจ เพื่อให้ลูกศิษย์ทุกคนมีอนาคตที่ประสบความสำเร็จ”.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]