สกัด…มะแขว่น กำจัดหนอนกระทู้หอม

ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2562
รัฐบาลมุ่งเดินหน้าโครงการเกษตรอินทรีย์ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้พืชสมุนไพรท้องถิ่นเป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืชทดแทนสารเคมี
ดร.ณัชยา คำรังษี สาขาชีววิทยาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดโครงการศึกษาความเป็นพิษสำคัญของมะแข่วนกำจัดหนอนกระทู้หอม โดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สนับสนุนทุนวิจัย
“การศึกษาเริ่มแรก เรามุ่งไปที่กลุ่มพืชสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุนอย่างพลูคาวสะค้านมะแขว่นและละหุ่งแดง เพื่อศึกษาสารออกฤทธิ์เพื่อนำมาทำเป็นน้ำมันหอมระเหย ในเบื้องต้นเราพบว่า สมุนไพรกลุ่มดังกล่าวมีฤทธิ์แค่เพียงใช้ไล่ยุงได้เท่านั้น แต่เมื่อนำมาสกัดด้วยวิธีพิเศษด้วยการนำพืชสมุนไพรมาแช่ในตัวทำละลายนาน 7 วัน แล้วนำไปทำการระเหยสารตัวทำละลาย เพื่อให้สารสกัดหยาบที่เข้มข้นพบว่า มะแขว่น จะมีสารออกฤทธิ์เทียบเท่าไซเปอร์แมททินซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกับที่อยู่ในกลุ่มสารเคมีฆ่าแมลงมีฤทธิ์ในการกำจัดแมลงปากกัดหนอนกระทู้ผักกระทู้หอมและหนอนชอนใบ”
ดร.ณัชยา บอกว่า มะแขว่นแห้ง 3 กก. นำมาสกัดด้วยวิธีนี้จะได้สารออกฤทธิ์ที่เข้มข้น 10 กรัม และเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำไปใช้งานได้สะดวก ต้องนำไปผสมกับอะซิโตน จะได้สารมะแขว่นพร้อมใช้งาน 2,000 มิลลิลิตร (10 ขวด)
จากนั้นนำไปทดสอบในแปลงผักพื้นที่ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ใช้สารสกัดมะแขว่น 200 มิลลิลิตร ผสมน้ำ 100 ลิตรฉีดพ่นแปลงผักในช่วงเช้าพบว่าหนอนวัย 2 ซึ่งเป็นวัยที่หนอนฟักออกจากไข่และเริ่มออกหากินสร้างความเสียหายต่อพืชผัก หลังฉีดพ่นสารมะแขว่นไปแล้ว 24-48 ชม. หนอนจะเริ่มตายและหลังจากนั้นอีก 7 วัน ฉีดพ่นซ้ำอีกครั้ง เพื่อกำจัดหนอนวัย 1 ที่เพิ่งออกจากไข่เป็นหนอนวัย 2 ให้หมดไปจากแปลง
นอกจากนั้นการทดสอบในแปลงยังพบอีกว่าผักที่ฉีดพ่นโดยสารมะแขว่นนอกจากจะปลอดพิษแล้ว ยังไม่มีกลิ่นพืชสมุนไพรตกค้าง ต่างจากการใช้สารสะเดาที่เกษตรกรมักจะเจอปัญหาผักมีกลิ่นและรสขม.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]