คอลัมน์ การศึกษา: ทางตันมหาวิทยาลัยไทย ‘กก.สภา’ หนีตายยื่นทรัพย์สิน ป.ป.ช.

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561
สะเทือนวงการศึกษาเมื่อประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561
ประกาศดังกล่าว นอกจากจะกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรสและบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวมทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแล้ว
แต่ยังรวมถึงนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภามหาวิทยาลัย และอธิการบดีของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) อีกด้วย
โดยประกอบด้วย
นายกสภามหาวิทยาลัย, กรรมการสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีของ สถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ม.มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ม.มหามกุฎราชวิทยาลัย ม.เกษตรศาสตร์ ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ ม.ทักษิณ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ม.เทคโนโลยีสุรนารี ม.ธรรมศาสตร์ ม.นวมิน ทราธิราช ม.บูรพา ม.พะเยา ม.มหิดล ม.แม่โจ้ ม.แม่ฟ้าหลวง ม.วลัยลักษณ์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ม.ศิลปากร ม.สงขลานครินทร์ ม.สวนดุสิต
ประธานกรรมการ, กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการ/เลขาธิการ ของ องค์การมหาชน ได้แก่ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) คุรุสภา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.)
นายกสภามหาวิทยาลัย, กรรมการสภามหาวิทยาลัยและอธิการบดีของ สถาบันอุดมศึกษาในสังกัดของรัฐ ได้แก่ ม.กาฬสินธุ์ ม.นครพนม ม.นเรศวร ม.นราธิวาสราชนครินทร์ ม.มหาสารคาม ม.รามคำแหง ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ม.อุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน และสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
โดยมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 30 วันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
กรรมการสภาโดยเฉพาะผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากภาคเอกชน แสดงเจตนารมณ์ลาออกทันที ไม่ได้กลัวการถูกตรวจสอบ แต่เพราะไม่
ต้องการยุ่งยากกับการแสดงบัญชีทรัพย์สิน แถมยังต้องพ่วงภรรยาและบุตรที่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สินด้วย
และหากแสดงบัญชีทรัพย์สินไม่ครบถ้วนจะถูกดำเนินคดีฐานปกปิดทรัพย์สินทันที ขณะที่กลุ่มนี้เข้ามาช่วยงานการศึกษา ให้ข้อชี้แนะเพื่อให้มหาวิทยาลัยพัฒนาบัณฑิตให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการอนุมัติงบประมาณ ได้แค่ค่าเบี้ยประชุม
จนถึงตอนนี้มีกรรมการสภาของ มทร.อีสานประมาณ 7-8 คนหรือเกือบครึ่งหนึ่งของกรรมการสภายื่นความจำนงขอลาออกแล้ว นายวิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) จึงได้หารือกันและมีมติทำหนังสือขอให้ ป.ป.ช.ทบทวน โดยได้ยื่น ป.ป.ช.ไปแล้ว
ขณะที่ มทร.ธัญบุรี มีกรรมการสภาแสดงความประสงค์ลาออก 3 ราย โดยนายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี ระบุว่า สภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่ชี้แนะให้คำแนะนำเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเรียนการสอน ไม่มีอำนาจในการอนุมัติงบประมาณ ต่างกับคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ
ทั้งนี้ ภาคเอกชนที่เข้ามาเป็นกรรมการสภาเพราะอยากช่วยพัฒนาการศึกษา ให้สามารถผลิตบัณฑิตตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ การที่ ป.ป.ช.ออกกฎหมายให้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน จึงมีผลกระทบ หากกรรมการสภาลาออก ทางมหาวิทยาลัยต้องสรรหาใหม่ ไม่เช่นนั้นเกิดสุญญากาศ ไม่สามารถอนุมัติหลักสูตรหรืออนุมัติปริญญาบัตรได้ เพราะองค์ประกอบสภาไม่ครบ
ดังนั้น อยากให้ ป.ป.ช.เร่งทบทวน ไม่เช่นนั้นไม่เกินวันที่ 15 พฤศจิกายน จะเกิดปัญหาในมหาวิทยาลัยแน่

ส่วนมหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ (มรร.) ปรากฏว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ นายกสภา มรร. และกรรมการสภาจากคนนอกลาออกยกชุด โดยนายมนตรี นุ่มนาม กรรมการสภาผู้ทรงคุณวุฒิ มรร. ระบุว่า กรรมการสภาจากภายนอกและนายมีชัยได้หารือกันและตกลงกันว่า กรรมการสภาจากภายนอกและนายกสภารวม 12 คน จะยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งในการประชุมสภาวันที่ 17 พฤศจิกายน และมีผลทันทีวันที่ 18 พฤศจิกายน เหลือเฉพาะ
กรรมการสภาโดยตำแหน่ง ซึ่งจะทำให้สภาเกิดสุญญากาศ ไม่สามารถอนุมัติเรื่องสำคัญอย่างหลักสูตรและปริญญาบัตรได้
การยื่นลาออกไม่ใช่เพราะทุกคนกลัวการตรวจสอบ แต่ไม่อยากวุ่นวาย เพราะหากเกิดข้อผิดพลาด จะทำให้เกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นตนเอง ภรรยา หรือกระทั่งบุตร หากลืมแจ้งข้อมูลอะไรเพียงนิดเดียว อาจเกิดปัญหา ถูกอายัดบัญชี มีผลกระทบกับธุรกิจ อย่างกรณีนายมีชัย ตนอยากให้ไปสอบถามเหตุผลเอง แต่เท่าที่คุยคือไม่อยากวุ่นวายเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สิน
“ที่ไม่อยากยื่น ไม่ใช่กลัวตรวจสอบ แต่กลัวเกิดความผิดพลาด หากลืมแจ้งบัญชีรายการใดรายการหนึ่ง จะกระทบกับการทำธุรกิจ เป็นการได้ไม่คุ้มเสีย ไม่แฟร์ ผมทำธุรกิจมากว่า 30 ปี เข้ามาเป็นกรรมการสภาเพราะอยากนำประสบการณ์
ความรู้ในฐานะผู้ประกอบการมาช่วยมหาวิทยาลัย ไม่มีเรื่องผลประโยชน์ แต่ถ้ามีกฎหมายนี้ เราก็ไม่อยากเสี่ยง”
นายมนตรีกล่าว
น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองคณบดีฝ่ายบริหารคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ และกรรมการสภามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วย เพราะการยื่นบัญชีทรัพย์สินมีรายละเอียดค่อนข้างมาก หากรายงานข้อมูลผิดพลาดหรือไม่ครบถ้วนอาจเจอข้อหารายงานข้อมูลเท็จ ส่งผลกระทบในเรื่องอื่นตามมา ที่สำคัญกรรมการสภาไม่ใช่ตำแหน่งที่มีผลประโยชน์ หรือเข้าไปมีส่วนได้เสียกับการจัดซื้อจัดจ้าง แม้จะมีอำนาจในการอนุมัติ แต่เป็นเพียงการอนุมัติทางวิชาการ เช่น อนุมัติหลักสูตร อนุมัติปริญญา เป็นต้น เป็นตำแหน่งที่ไม่มีเงินเดือน จะได้เพียงเบี้ยประชุมครั้งละประมาณ 3,000 บาท เชื่อว่าต่อไปจะมีกรรมการสภาหลายแห่งทยอยลาออก และทำให้สภามหาวิทยาลัยหลายแห่งเกิดสภาวะเดดล็อก คือไม่สามารถอนุมัติอะไรได้ เพราะมีกรรมการสภาไม่ครบองค์ประกอบ
ด้านพระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มจร กล่าวว่า สำหรับมหาวิทยาลัยสงฆ์ไม่มีปัญหา โดยเมื่อรวมกับประกาศ ป.ป.ช.ก่อนหน้านี้ เท่ากับมีทั้งนายกสภา กรรมการสภา อธิการบดีและรองอธิการบดีที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. ซึ่งมหาวิทยาลัยสงฆ์พร้อมปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างอาตมาได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.มา 3 ครั้งแล้ว ส่อแววว่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของอุดมศึกษา ถ้ารัฐบาลไม่เร่งแก้ไขปัญหา เพราะสำหรับกรรมการสภาที่มาจากภาคเอกชน ไม่ได้เข้ามาเพื่อแสวงหาประโยชน์ แต่หวังช่วยการศึกษา ถ้าต้องยุ่งยากในการยื่นบัญชีทรัพย์สิน แถมต้องพ่วงภรรยาและบุตรด้วย เป็นใครย่อมไม่อยากเสี่ยงให้ธุรกิจชะงักแถมต้องเสี่ยงติดคุกฟรีด้วย ฉะนั้น จากนี้มหาวิทยาลัยคงเกิดสภาพสุญญากาศ เพราะเมื่อกรรมการสภาลาออกแล้ว ก็ใช่ว่าจะหารายใหม่มาทดแทนได้ง่าย
ต้องรอดูว่ารัฐบาลและ ป.ป.ช.จะแก้เกมอย่างไร

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]