แนะใช้ม.44แก้โชว์บัญชี

ข่าวสด ฉบับวันที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

ทยอยออกอีก3บิ๊กตู่สั่งให้วิษณุรีบเคลียร์ปปช.
กรรมการสภามทร.ธัญบุรีขอลาออก 3 คน เนื่องจากไม่ต้องการแสดงบัญชีทรัพย์สินตามกม.ใหม่ของป.ป.ช. ด้าน หมอธีระเกียรติแนะกก.สภามหาวิทยาลัยอย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจลาออก รอให้รัฐบาลและป.ป.ช.แก้ปัญหาก่อน ผู้บริหารมทร.แนะนายกฯใช้มาตรา 44 แก้ปัญหา ‘บิ๊กตู่’มอบหมาย ‘วิษณุ เครืองาม’ หารือกับป.ป.ช. ด้านป.ป.ช.ประชุมเรื่องนี้แล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป ระบุต้องรอฟังความเห็นจากทุกฝ่ายก่อน ส่วนที่ประชุมอธิการบดีมทร.นัดหารือวันนี้
จากกรณีประกาศของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561 ที่ประกาศในราชกิจจาบุเบกษา เมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยนอกจากจะกำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินของตน คู่สมรสทั้งที่จดทะเบียนสมรสและมิได้จดทะเบียนสมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ รวม ทั้งตรวจสอบและเปิดเผยผลการตรวจสอบทรัพย์สิน และหนี้สินของบุคคลดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแล้ว แต่ยังรวมถึงนายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา และอธิการบดีของมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัยรัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และจากคำสั่งดังกล่าวทำให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ดสปสช.) จำนวน 4 คนประกาศลาออกแล้วนั้น
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)ธัญบุรี เปิดเผยว่า สภามหาวิทยาลัยมีการพูดคุยกัน และมีกรรมการสภาแสดงความประสงค์จะลาออก 3 ราย อย่างไรก็ตามกฎหมายป.ป.ช.ฉบับนี้กำหนดให้ทั้งคณะกรรมการ รัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการภาครัฐ รวมถึง สภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน แต่ ในส่วนของการศึกษา รวมถึงสภามหาวิทยาลัย คณะกรรมการต่างๆ ทำหน้าที่ชี้แนะให้คำ แนะนำเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา การเรียนการสอน ไม่มีอำนาจในการอนุมัติงบประมาณ ต่างกับคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ซึ่งภาคเอกชนที่เขามาทำหน้าที่ส่วนใหญ่ ก็เพราะอยากช่วยพัฒนาการศึกษา ให้สามารถผลิตบัณฑิตตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง การที่ป.ป.ช.อออกกฎหมายให้ยื่นบัญชีทรัพย์สิน จึงมีผลกระทบ เพราะคนเหล่านี้อาจไม่ต้องการแจ้งทรัพย์สินซึ่งเป็นเรื่องส่วนบุคคล
“หากใครมีความประสงค์จะลาออก ทางมหาวิทยาลัยก็มีหน้าที่ต้องประกาศสรรหาใหม่ ซึ่งอาจทำให้การทำงานเกิดสุญญากาศ ไม่สามารถอนุมัติหลักสูตร หรืออนุมัติปริญญาบัตรได้ เพราะองค์ประกอบสภาไม่ครบ ดังนั้น อยากให้ป.ป.ช.เร่งทบทวนกฎหมายฉบับนี้ คาดว่าไม่เกินวันที่ 15 พ.ย. หากป.ป.ช.ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจะเกิดปัญหาในมหาวิทยาลัยแน่นอน อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถแก้ไขกฎหมายข้อนี้ได้ อยากให้ป.ป.ช. หรือรัฐบาลผ่อนปรน โดยอาจใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) ยืดเวลาการบังคับใช้กับคนกลุ่มนี้ออกไปอีก 5 ปี เพื่อให้แต่ละคน ได้มีการเตรียมพร้อมล่วงหน้า ขณะที่ทางมหาวิทยาลัยจะได้กำหนดให้ชัดเจนว่า ผู้ที่เข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการสภา ผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชน จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินกับป.ป.ช.ด้วย ส่วนกรรมการสภา โดยตำแหน่งไม่มีปัญหา เพราะเป็นข้าราชการต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว” นายประเสริฐกล่าว
เมื่อเวลา 14.40 น. วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคสช.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีสภามหาวิทยาลัยและอีกหลายองค์กรทยอยลาออกจากการเป็นคณะกรรมการ เนื่องมาจากต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. ว่า ขณะนี้กำลังหารือกับป.ป.ช.ว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร ถ้าหากมีการลาออกของคณะกรรมการ เพราะจะมีผลต่อการประชุมขององค์กรเนื่อง จากองค์ประกอบไม่ครบ จำเป็นต้องหาวิธีการแก้ไข อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ตนทราบถึงเจตนาที่ดี แต่ต้องไปแก้ปัญหาที่จะตามมาว่าควรต้อง ทำอย่างไร ซึ่งต้องรอว่าผลจะออกมาอย่างไร ขณะนี้ยังมีเวลาเพราะยังไม่มีผลบังคับใช้
รายงานข่าวจากที่ประชุมครม. ที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน แจ้งว่า นายกฯแจ้งให้ที่ประชุมครม.ทราบถึงการ ประชุมคสช.ในช่วงเช้า วันเดียวกันที่มีการพูดคุยกันถึงประกาศป.ป.ช. ฉบับล่าสุด เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์ สินและหนี้สินที่มีปัญหากันอยู่ขณะนี้ว่า ไม่ ใช่เรื่องเล็ก เพราะตำแหน่งที่ข้าราชการและ ผู้เกี่ยวข้องจะต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินขยายวงกว้างมากขึ้นจากเดิม โดยเฉพาะตอนนี้นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่งกำลังทยอยจะลาออก โดยในที่ประชุมครม.มีการถกกัน และยกตัวอย่างว่า หากตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยจะต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน จะรวมถึงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชด้วย เนื่อง จากทรงดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัยสงฆ์ ดังนั้นจะต้องส่งตัวแทนรัฐบาลไปพูดคุยกับคณะกรรมการป.ป.ช. โดยนายกฯมอบหมายอย่างไม่เป็นทางการให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีไปหารือกับป.ป.ช.เพื่อหาทางออกเรื่องนี้ว่าจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร
วันเดียวกัน นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังประชุมครม. ว่า ขณะนี้เกิดแรงกระเพื่อมอย่างหนัก จากกรณีที่มีการประกาศป.ป.ช. เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ตามมาตรา 103 พ.ศ.2561 ที่กำหนดให้นายกสภามหาวิทยาลัย กรรมการสภา และอธิการบดี ของมหาวิทยาลัย ในกำกับของรัฐ มหาวิทยาลัยสงฆ์ มหาวิทยาลัย รัฐ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) แจงหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ส่งผลให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในสภามหา วิทยาลัยหลายท่านมีความประสงค์จะลาออก หรือยื่นใบลาออก อาจจะนับ 100 คน อย่างไรก็ตาม เวลานี้พล.อ.ประยุทธ์ นายวิษณุ และพล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการ ทราบถึงปัญหาแล้ว ซึ่งนายกฯ มอบหมายให้นายวิษณุ หารือร่วมกับประธานป.ป.ช.เพื่อวิธีการแก้ไขปัญหาต่อไป
“ผมขอฝากไปถึงกรรมการสภาที่กำลังจะลาออกว่า อย่าเพิ่งรีบยื่นลาออก รัฐบาลรู้ว่ามีปัญหา และถ้าไม่แก้ไขเรื่องนี้ กรรมการสภา ผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านจะลาออก บางคนมาประชุมโดยได้รับเบี้ยประชุมเพียง 2,000 บาทต่อเดือน พอต้องมารับผิดชอบเรื่องนี้ก็เกิดความลำบากใจ เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการตีความว่าใครอยู่ในข่ายต้องดำเนินการ ดังนั้นขอให้รอ ทุกฝ่ายกำลังหาทางออกเรื่องนี้อยู่ อีกทั้งกฎหมายจะยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าถึง วันที่ 2 ธันวาคม 2561 ยังมีเวลาอีก 30 วัน” นพ.ธีระเกียรติกล่าว
นพ.ธีระเกียรติกล่าวต่อว่า ตนถาม รอง นายกฯ เช่นกันจะเดินอย่างไร ท่านบอกว่าขอให้หารือกับป.ป.ช. ก่อน ซึ่งก็เป็นไปตามมาตรการทางกฎหมาย ตนไม่สามารถตอบได้ว่า ส่วนตัวคิดเห็นอย่างไร เพราะเป็นคนหนึ่งที่ต้องแจงบัญชีทรัพย์สิน และบ้านเมือง มีกฎหมายกำหนดไว้ว่าให้ใครบ้างต้องแจงบัญชีทรัพย์สิน ทราบว่าในวันที่ 7 พ.ย. กลุ่มที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) จะประชุมกันเรื่อง ดังกล่าวเพื่อยื่นหนังสือให้ป.ป.ช.ด้วย
เมื่อเวลา 18.30 น. ที่สำนักงานป.ป.ช. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมป.ป.ช.เพื่อพิจารณาข้อท้วงติงกรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยเตรียมยื่นหนังสือลาออก จากตำแหน่งจำนวนมาก เนื่องจากไม่พอใจ ประกาศป.ป.ช.ที่กำหนดให้ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินฯว่า ที่ประชุมป.ป.ช.หารือประเด็นปัญหาดังกล่าว แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ โดยจะรอข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ ก่อน เช่น ที่ประชุม สภามหาวิทยาลัยในวันที่ 8 พ.ย.นี้ รวมถึงกรณีรัฐบาลจะส่งนายวิษณุ เครืองาม มาหารือปัญหาดังกล่าวกับป.ป.ช. ซึ่งป.ป.ช. จะนำข้อแนะนำของฝ่ายต่างๆ มาพิจารณาหาทางแก้ไขต่อไป
พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวต่อว่า ป.ป.ช.พร้อมรับฟังข้อคิดเห็นจากทุกฝ่าย แต่สิ่งที่ป.ป.ช. ดำเนินการไปเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2561 ที่ระบุให้ป.ป.ช.กำหนดตำแหน่งผู้บริหารระดับ สูงที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ซึ่งกรรมการสภามหาวิทยาลัยถือเป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับ สูง ยืนยันป.ป.ช.ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ได้กำชับต่อคณะทำงานด้านกฎหมายป.ป.ช. ให้พิจารณาอย่างรอบคอบเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สิน เพราะแต่ละหน่วยงานต่างมีกฎหมายของตัวเอง เรื่องนี้ยังมีเวลาอีก 20 กว่าวัน ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ ป.ป.ช. จะดำเนินการทุกอย่างให้รอบคอบ

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]