สร้างอาชีพให้คน’ร่วมสมัย’ ทางรอดมหาวิทยาลัยยุคดิจิทัล

คม ชัด ลึก ฉบับวันที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2561
ชุลีพร อร่ามเนตร
qualitylife4444@gmail.com
มหาวิทยาลัยจะรอดได้หรือไม่ในยุคดิจิทัล นอกจากต้องปรับตัวให้ เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การทำงานในภาคอุตสาหกรรม เป็น แหล่งสร้างอาชีพ และเสริมทักษะใน ด้านอื่นๆ แก่คนทุกกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะเด็กรุ่นใหม่ แต่ต้องรวมถึงผู้สูงอายุ คนวัยเกษียณด้วย ที่สำคัญต้องร่วมมือกับภาคเอกชน อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยด้วยกันเอง เพื่อเป็นแหล่งสร้างอาชีพแก่คนรุ่นใหม่” ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.)ธัญบุรี กล่าว
เมื่อโครงสร้างของประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป มีเด็กน้อยลง ผู้สูงอายุมากขึ้น กลุ่มคนวัยทำงานต้องแบกรับดูแลผู้คนมากขึ้น ขณะที่เทคโนโลยีก้าวเข้ามามีบทบาทในชีวิตผู้คน และเกี่ยวข้องกับอาชีพต่างๆ มากขึ้น สถาบันการศึกษา จึงต้องปรับตัว เป็นแหล่งสร้างอาชีพ ผลิตบัณฑิตที่ทำงานเป็น มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถ มีทักษะความรู้ ทักษะอารมณ์ และทักษะอาชีพ ตอบโจทย์ทั้งในส่วนของอุตสาหกรรม สถานประกอบการ และประเทศแล้ว ก็จะสามารถอยู่รอดได้
“เด็กรุ่นใหม่รู้จักตนเองตั้งแต่ ม.ปลาย หรือบางคนรู้จักตนเองก่อนหน้านั้นว่าอยากเป็นอะไร อยากทำอาชีพอะไร และเด็กมีการศึกษา ค้นหามหาวิทยาลัยที่สามารถตอบโจทย์การเรียน ความอยากรู้ และอาชีพของพวกเขาได้ สถาบันการศึกษาต่างๆ ต้องสอนให้นักศึกษาเป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ มีทักษะ สมรรถนะอาชีพ ทำงานเป็น มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ความสามารถ รองรับกับอุตสาหกรรมใหม่ของประเทศ”
หากสถาบันการศึกษา ปรับตัวรับกับเทคโนโลยีนวัตกรรมของโลก แม้โครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่ได้รับผลกระทบเรื่องจำนวนนักศึกษาเข้าเรียน ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้เปิดหลักสูตรใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น สาขาวิชาวิศวกรรมระบบราง สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน สาขาวิชาอุตสาหกรรมการบริการและการบิน สาขาวิชาแมคคา ทรอนิกส์ ทุกหลักสูตรมีกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่ไม่ใช่เพียงในมหาวิทยาลัย แต่ทุกหลักสูตรมีความร่วมมือกับภาคเอกชน ในการส่งนักศึกษาไปฝึกงาน สหกิจศึกษา เป็นแหล่งฝึกอาชีพแก่เด็ก
ปรับรับการเปลี่ยนแปลงของโลก
ดังนั้น สถาบันที่เปิดสอนระดับอุดมศึกษาต้องปรับเปลี่ยนทุกด้าน หลักสูตร กระบวนการจัดการเรียนการสอน อุปกรณ์การเรียนการสอน สภาพแวดล้อมในมหาวิทยาลัย ต้องร่วมมือสร้างเครือข่ายในการพัฒนานักศึกษา กับภาคเอกชน และสถานประกอบการเพิ่มศักยภาพ ทักษะตอบโจทย์ได้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ อุตสาหกรรมมากขึ้น รวมถึงต้อง มุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรม และงานวิจัยใหม่ๆ ด้วย
มีการพัฒนาและปรับทุกหลักสูตร เพื่อให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้ และข้อมูลมากมายที่อยู่ในอุตสาหกรรม และโลกดิจิทัล มีการพัฒนาอาจารย์มืออาชีพที่มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการผลิตบัณฑิตนักปฏิบัติ โดยมีการส่งอาจารย์ไปอบรมทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ส่งอาจารย์ไปเรียนรู้การจัดกระบวนการเรียนการสอนแบบฟินแลนด์ หรือการเรียนสมรรถนะอาชีพที่ประเทศเยอรมนี เป็นต้น
“อุปกรณ์การเรียนการสอน สื่อการสอน ห้องเรียน ห้องสมุดเป็นห้องสมุดออนไลน์ให้ทันสมัย เพิ่มพื้นที่ของมหาวิทยาลัยให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับนักศึกษา และมีเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ได้เรียนรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่นักศึกษามากที่สุด เพราะเมื่อมหาวิทยาลัยเป็นแหล่งเรียนรู้ ทักษะอาชีพ ต่อให้โลกดิจิทัลที่มีข้อมูลมากมาย ค้นหาได้ แต่ก็ไม่สามารถสร้างเขาให้เป็นบัณฑิตนักปฏิบัติ มีทักษะอาชีพได้” อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าว
ผลิตนักนวัตกรรม สร้างสิ่งประดิษฐ์
อธิการบดีมทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า เด็กสมัยนี้ ไม่ได้สนใจการเรียนการสอนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว ต้องได้ลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงในสถานประกอบการ มหาวิทยาลัยต้องมีนวัตกรรมและงานวิจัย ให้เด็กได้เข้ามามีส่วนร่วม มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง รู้จักการบูรณาการ องค์ความรู้ต่างๆ สร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ที่นำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการ สร้างรายได้ให้แก่ตนเอง เป็นการเตรียมเด็กเชื่อมโยงเข้ากับภาคเอกชน สร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ด้านหุ่นยนต์ประดิษฐ์ หรือ AI Bigdata อุตสาหกรรมการบิน อุตสาหกรรมระบบราง อาหาร เกษตรกรรม สุขภาพ วัสดุศาสตร์ และ โลจิสติกส์ การขนส่งทั้งทางบกและอากาศ
รัฐหนุนเอกชน เปิดรับนศ.ฝึกงาน
อธิการบดีมทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยจะรอดในยุคดิจิทัล นอกจากมหาวิทยาลัยต้องปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี การทำงานในภาคอุตสาหกรรม เป็นแหล่งสร้างอาชีพ และเสริมทักษะในด้านอื่นๆ แก่คนทุกกลุ่ม ไม่ใช่เฉพาะเด็กรุ่นใหม่ แต่ต้องรวมถึงผู้สูงอายุ คนวัยเกษียณด้วย
ต้องมีการเรียนแบบออนไลน์ เพื่อตอบรับเทรนด์การเรียนรู้แบบใหม่ๆ แล้วนั้น ภาครัฐเองต้องเข้ามามีส่วนในการสนับสนุนให้ภาคเอกชนรับนักศึกษาเข้าไปฝึกงานในสถานประกอบการ และได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม เพราะสถานประกอบการมีอุปกรณ์ เทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัย อีกทั้งเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้การทำงาน และสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง
ขณะเดียวกัน ภาครัฐต้องสนับสนุนให้งบประมาณในสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศ อย่าง สาขาท่าอากาศยาน ระบบราง โลจิสติกส์ เพราะการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยี สาขาเหล่านี้ต้องมีการลงทุนด้านอุปกรณ์ค่อนข้างสูง รวมถึงรัฐต้องมีความร่วมมือกับต่างประเทศในการส่งเสริมการเรียนการสอน ด้านวิชาการ วิจัย นวัตกรรม แก่มหาวิทยาลัยไทย และประเทศต่างๆ มีการโปรโมท ให้มาลงทุน ให้มหาวิทยาลัย และวิทยาลัยอาชีวศึกษา มีโอกาสในอุตสาหกรรมมากขึ้น
“มหาวิทยาลัยจะอยู่รอดได้ ต้องร่วมมือกับภาคเอกชน อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยด้วยกันเอง เพื่อเปนแหล่งสร้างอาชีพแก่คนทุกกลุ่ม”

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]