บูรณาการข้ามศาสตร์ ยกเครื่องหลักสูตรรับดิจิทัล

กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 09 สิงหาคม พ.ศ. 2561
ชุลีพร อร่ามเนตร
qualitylife4444@gmail.com
กรุงเทพธุรกิจ เมื่อ เทคโนโลยี หุ่นยนต์ นวัตกรรม เข้ามามีบทบาทและช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและการแข่งขันของประเทศมากขึ้น การผลิตทรัพยากรบุคคล การสร้างคนของแต่ละประเทศก็ต้องมุ่งสร้างบัณฑิตเพื่อรองรับอาชีพต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป และต้องมีทักษะอาชีพ พร้อมปรับตัวและเรียนรู้เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการปรับ ยุบ รวมหลักสูตรของสถาบันการศึกษาจึงเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่าขณะนี้มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญในการสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน เพราะขณะนี้เทคโนโลยีและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในสถานประกอบการมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การลงทุนของมหาวิทยาลัยอาจจะไม่พร้อม ต้องมีการประสานขอความร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งนักศึกษาไปฝึกงาน หรือร่วมกับภาคเอกชนในการจัดทำและปรับปรุงหลักสูตร เพื่อพัฒนาบัณฑิตที่สามารถออกไปทำงานได้จริง มีทักษะอาชีพ และมีทักษะด้านอื่นๆ ที่สถานประกอบการต้องการ ต้องมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ นักศึกษา และการพัฒนาครู
80% บูรณาการปฏิรูปครูหลักสูตร
“เราส่งครูจำนวน 400 คนไปอบรมนวัตกรรมการสอนแบบฟินแลนด์โมเดล ซึ่งระบบของฟินแลนด์เป็นการพัฒนาระบบการเรียนการสอนที่เน้นการคิดวิเคราะห์ การนำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้ สร้างสรรค์ผลงาน และได้มีการจัดส่งครูประมาณ 600 คนไปเรียนรู้การสอนของมหาวิทยาลัยในประเทศสิงคโปร์ รวมถึงได้มีการส่งครูประมาณ 100 กว่าคน ไปเรียนรู้การผลิตบัณฑิตสายอาชีพ ส่งครู 120 คน ไปอบรมที่ประเทศเยอรมนี เพื่อให้นำเทคนิคการสอน การจัดการเรียนการสอน การฝึกปฏิบัติ เพื่อเสริมการเรียนรู้ ผลิตอาชีพสายช่างมาเสริมการเรียนรู้พื้นฐาน และทางปฏิบัตินวัตกรรม
เป็นการการปรับตัวครั้งใหญ่ ซึ่ง 80% ได้มีการพัฒนานวัตกรรมการสอน เปลี่ยนหลักสูตร บูรณาการปกิรูปทั้งครู หลักสูตร วิธีการเรียนรู้และงานวิจัย การสร้างนวัตกรรมด้วยการฝังตัวในภาคอุตสาหกรรม และสร้างเครือข่าย ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อการผลิตบัณฑิตที่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก”อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าว
ปรับหลักสูตร เสริมสมรรถนะอาชีพ
ทั้งนี้ทุกหลักสูตรมุ่งเน้นเสริมสร้างสมรรถนะอาชีพ รองรับทั้ง 10 อุตสาหกรรมของประเทศ แบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิม ที่มีศักยภาพ ( First S-curve) และ 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) รวมถึงมีการเปิดหลักสูตรใหม่ 8 หลักสูตร อาทิ อุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมระบบราง (ต่อเนื่อง) สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ พ.ศ.2561 สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน (หลักสูตรเทียบโอน 2 ปี และ 4 ปี) พ.ศ.2561 ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอุตสาหกรรมการบริการและการบิน พ.ศ.2561 วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์ พ.ศ.2560 เป็นต้น ซึ่งทุกหลักสูตรจะสร้างสมรรถนะอาชีพ แรงงานขั้นสูง อาชีพขั้นสูงใช้เทคโนโลยี” ประเสริฐ กล่าว
เรียนบูรณาการข้ามศาสตร์
ปัจจุบันปรับปรุง 42 หลักสูตร ให้มีความทันสมัยและเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมมากขึ้น คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีการศึกษา 2562 และปิดหลักสูตรที่ซ้ำซ้อน เช่น ปีการศึกษา 2560 ปิดสาขานาฏศิลป์ไทย นาฏศิลป์สากล ดุริยางค์ไทย ดุริยางค์สากล คีตศิลป์สากลของคณะศิลปกรรมศาสตร์ และปิดหลักสูตรแบบมีเงื่อนไข สาขาวิศวกรรมศาสตร์แปรรูปผลิตผลเกษตร และสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพสัตว์ ของคณะเทคโนโลยีการเกษตร
รวมถึงได้มีการบูรณาการข้ามศาสตร์ของแต่ละหลักสูตร อาทิ บูรณาการหลักสูตรวิศวกรรมสิ่งทอ กับคณะคหกรรมศาสตร์เข้าด้วยกัน หรือหลักสูตรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ตอนนี้ทุกคนสามารถใช้คอมพิวเตอร์เป็น รู้หลักเบื้องต้น ก็ต้องมีการปรับปรุงให้เป็นหลักสูตรที่มีการนำเรื่องของ BigData คิดวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ การใช้ซอฟต์แวร์ต่างๆ ที่เหมาะสมกับสาขา อาชีพในมิติใหม่มากขึ้น
“การเรียนรู้เฉพาะศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งอาจไม่เพียงพอ ต้องมีการเรียนแบบบูรณาการข้ามศาสตร์ และเปิดโอกาสให้เด็กเลือกวิชาเฉพาะได้อย่างเสรีมากขึ้น รวมถึงต้องมีการเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น สาขา วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ ต้องเรียนรู้การควบคุมอัตโนมัติ การใช้ หุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม ต้องเปลี่ยนบริบทการเรียนรู้แบบธรรมดาเป็นการเรียนรู้เพื่ออาชีพ” ประเสริฐ กล่าว
นอกจากนั้น ต้องมีการผลิตนวัตกรรมใหม่ อย่างหุ่นยนต์ใช้ในทางการแพทย์ หรือการนำหุ่นยนต์มาใช้ในการส่งเสริมในรายวิชาต่างๆ อีกทั้งต้องเรียนรู้การนำเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาเป็นผู้ประกอบการด้วย เอาความรู้ในการสร้างสิ่งประดิษฐ์เป็น ผู้ประกอบการ เปลี่ยนนักปฏิบัติเป็น ผู้ประกอบการ สร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ ต่อยอดสร้างมูลค่าได้
นักปฏิบัติต้องมีทักษะสังคม
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวต่อไปว่าการหล่อหลอมให้นักศึกษาทำงานเป็น พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โลกของการทำงานนั้นต้องมีทักษะด้านความรู้ ทักษะด้านอาชีพ แล้วต้องมีทักษะด้านอารมณ์ ด้านสังคม หรือทักษะ Soft Skil ด้วย เพราะการทำงานเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียน ที่ต้องมีทักษะการ แก้ปัญหา การทำงานเป็นทีม การสื่อสาร การจัดการองค์กร ความรับผิดชอบ เอาสิ่งที่คิดมาออกแบบนวัตกรรม ทุกหลักสูตรมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรม ภาคเอกชน
ดังนั้น ไม่ว่านักศึกษาจะเรียนในสาขาธุรกิจการบิน ยานยนต์ ระบบราง โลจิสติกส์ในทางบก อากาศ นักศึกษาจะได้ไปเรียนรู้ ฝึกงานในสถานประกอบการอุตสาหกรรมนั้น มหาวิทยาลัยได้มีการเสริมทักษะด้านภาษา ซึ่งถือเป็น ทักษะที่มีความสำคัญอย่างมาก นักศึกษาต้องมีทักษะในการสื่อสารอย่างน้อย 2 ภาษา โดยมหาวิทยาลัยมี ศูนย์ภาษาอังกฤษและศูนย์ภาษาจีนและเปิดโอกาสให้เด็กตั้งแต่ระดับชั้น ปีที่ 1 ได้รับงบประมาณกองทุนพัฒนาใช้ทุนทำงาน และนักศึกษาสามารถไปฝึกงานสหกิจศึกษาทั้งไทยและต่างประเทศ มีโอกาสไปเรียนรู้ภาษาต่างๆ ในขณะทำงาน เพื่อเป็นเพิ่มเติมความรู้และประสบการณ์
นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้ไปเรียนในคณะหรือสาขาอื่น ตามความชอบของตนเอง จะเป็นการช่วยเสริมทักษะสังคม อารมณ์ให้แก่บัณฑิตได้เป็นอย่างดี เช่น นักศึกษาพยาบาลศาสตร์เลือกวิชาเฉพาะด้านดนตรี เพื่อนำความรู้ ด้านดนตรี การเล่นดนตรีเพื่อช่วยให้ตัวเองผ่อนคลาย และไปใช้จัดกิจกรรมแก่ผู้ป่วย หรือเลือกเรียนว่ายน้ำเพื่อนำไปใช้บำบัดผู้ป่วย หรือเสริมบุคลิกภาพแก่ตนเอง มีการปรับวิธีการเรียนการสอน ให้นักศึกษาสามารถเลือกรายวิชา หน่วยกิตได้ตามที่ต้องการว่าแต่ละปีอยากเรียนกี่หน่วยกิต แต่ต้องครบตามหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยกำหนด มหาวิทยาลัยต้องบ่มเพาะมนุษย์ที่ทำเทคโนโลยี มีทักษะอาชีพ ความรู้ และทักษะอารมณ์ ทำประโยชน์แก่สังคม
“การเรียนรู้เฉพาะ ศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่ง อาจไม่เพียงพอ ต้องมีการเรียนแบบบูรณาการ ข้ามศาสตร์”

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]