ทีแคสรอบ3กับหลักสูตรพันธุ์ใหม่เตรียมตัวให้พร้อมกับ’อาชีพที่ยังไม่เกิด’

กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
หทัยรัตน์ ดีประเสริฐ
qualitylife4444@gmail.com

กรุงเทพธุรกิจ การสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคส รอบ 3 รับตรงร่วมกัน เป็นปีแรก ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) จัดขึ้นหลังให้นักเรียนมีทางเลือกเรียนในหลักสูตรต่างๆ มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา โดยเฉพาะ โครงการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เน้นสาขาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้เรียนรู้และฝึกประสบการณ์ในภาคอุตสาหกรรมไม่น้อยกว่า 50% และหลักสูตรใหม่ที่จะนำไปสู่อาชีพที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
รศ.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่าขณะนี้ มทร.ธัญบุรีได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ เพื่อสร้างกำลังคนที่มีสมรรถนะสูง โดยมหาวิทยาลัยได้เสนอหลักสูตรพันธุ์ใหม่ 8 หลักสูตร โดยจะเปิดรับนักศึกษาทีแคส รอบ 3 และรับนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้น ปวส. หรือนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเอง โดยจะคัดเลือกจากนักศึกษาที่มีผลการเรียนดี เน้นปฏิบัติและมีทัศนคติที่ดี ที่กำลังเรียนอยู่ปี 2 เพื่อเรียนต่อในปี 3 เพื่อให้สามารถผลิตกำลังคนให้ได้ตามนโยบายของรัฐบาล ทั้งนี้มหาวิทยาลัยยังมีพาร์ตเนอร์ภาคอุตสาหกรรมที่จะรองรับให้นักศึกษาเข้าไปปฏิบัติงานจริงเรียบร้อยแล้ว
8 หลักสูตรพันธุ์ใหม่
สำหรับ 8 หลักสูตรพันธุ์ใหม่ประกอบด้วยหลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมระบบราง (ต่อเนื่อง) สาขาวิชาอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ พ.ศ.2561 สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์อากาศยาน (หลักสูตรเทียบโอน 2 ปี และ 4 ปี) พ.ศ.2561 ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอุตสาหกรรมการบริการและการบิน พ.ศ.2561 วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาแมคคาทรอนิกส์ พ.ศ.2560 เป็นต้น เป็นสาขาที่ตรงกับนโยบายของรัฐบาลผลิตบัณฑิตตอบสนองอุตสาหกรรม S-Curve เป็นความต้องการของตลาดแรงงาน
“รัฐบาลสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ หลักสูตรปริญญาตรี 9 หมื่นบาทต่อคน ให้เน้นเรียนปฏิบัติ ซึ่งเป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศ เพราะสามารถผลิตคนได้ตามความต้องการของ ตลาด ถ้าเป็นไปได้อยากให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการฝึกงานอีกจะสมบูรณ์มากขึ้น เพราะบัณฑิตพันธุ์ใหม่จะต้องเรียน ไปด้วย ฝึกงานไปด้วย ซึ่งขณะที่ไปฝึกงานในสถานประกอบการจะมีต้นทุนในการเดินทาง และจะเป็นการดีต่อนักศึกษามากขึ้นถ้าสถานประกอบสนับสนุน งบประมาณในขณะที่นักศึกษาฝึกงานและมีตำแหน่งงานรองรับหลังจากสำเร็จการศึกษา” อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี กล่าว
มจธ.ผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ AI
ศ.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่าโครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ของ มจธ.มีหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และด้านวิศวกรรม ซึ่งนักศึกษาเชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เป็นต้น การที่รัฐบาลสนับสนุนหลักสูตรพันธุ์ใหม่ เพื่อผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ตอบโจทย์ 10 อุตสาหกรรมเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และภาคอุตสาหกรรมต้องการผู้เชี่ยวชาญที่มีความรอบรู้ มหาวิทยาลัยจึงต้องร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการผลิตบัณฑิตคุณภาพ เมื่อจบออกไปเขาสามารถทำงานในยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) และสามารถปรับตัวทำงานภาคอุตสาหกรรมได้จริง
โดยเด็กจะได้รับการดูแลใกล้ชิดจากภาคอุตสาหกรรมและอาจารย์ของมหาวิทยาลัย การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยต้องรู้ในมิติต่างๆ ไม่ใช่เรียนเพื่อต้องการใบปริญญาเท่านั้น ต้องเรียนอย่างมีความหมาย มหาวิทยาลัยทุกแห่งต้องบูรณาการหลักสูตร ร่วมผลิตบัณฑิตที่มีทั้งความรู้ ทักษะรอบด้าน ทักษะศตวรรษที่ 21 และการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ต้องร่วมกัน ต่างคนต่างทำไม่ได้
มธ.เปิดวิทยาศาสตรบัณฑิต 3 สาขา
สมชาย ชคตระการ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่าหลักสูตรบัณฑิต พันธุ์ใหม่เพื่อประเทศไทย 4.0 ของคณะ เปิดรับในรอบที่ 3 ประเภทรับตรงร่วมกัน และนักศึกษาเลือกสาขาวิชาแบบ Post Select จำนวน 3 หลักสูตร ได้แก่ 1.วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพและการแปรรูปเคมีชีวภาพ 2.วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล 3.หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร โดยทั้งหมดได้รับการออกแบบวิธีการและรูปแบบ การเรียนรู้ใหม่ โดยผู้เรียนจะต้องมีสัดส่วนการเรียนรู้ในสถานประกอบการภาคเอกชนชั้นนำของประเทศ เป็นระยะเวลา 1 ภาคการศึกษาถึง 1 ปีการศึกษาครึ่ง
รวมถึงสามารถเลือกเรียนอื่นนอกคณะตามความสนใจของตนเอง โดยไม่มีการจำกัดหรือบังคับการเลือกวิชาเรียน และยังมีวิชาศึกษาทั่วไปนอกห้องเรียนที่นักศึกษาสามารถเรียนและเก็บหน่วยกิตวิชาศึกษาทั่วไป ซึ่งเป็นวิชาบังคับ ผ่านการเรียนแบบออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนในห้องเรียน เพื่อพัฒนาทักษะและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบัน
16หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่
ประจำปีการารศึกษา 2561 มีดังนี้ หลักสูตรปรับปรุง ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล 2.อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตร 3.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเคมี
4.หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ 5.อุตสาหกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยพะเยา วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ 6.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรมอาหาร 7.อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ มทส. วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาบูรณาการเทคโนโลยีการเกษตร การจัดการความปลอดภัยด้านอาหาร (นานาชาติ)
ขณะที่หลักสูตรใหม่ 2561 ได้แก่ 8.หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (หลักสูตร สหวิทยาการ) 9.อุตสาหกรรม เกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาศาสตร์แห่งแผ่นดินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
10.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิศวกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ 11.อุตสาหกรรมดิจิทัล มจพ.วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์ข้อมูลและการวิเคราะห์เชิงสถิติ 12.อุตสาหกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชา นวัตกรรมบริการดิจิทัล 13.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพและการแปรรูปเคมีชีวภาพ
14.อุตสาหกรรมดิจิทัล มธ. วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล 15.อุตสาหกรรมดิจิทัล มธ. วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชานวัตกรรมและการแปรรูปทางดิจิทัล และ 16.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร มธ.หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]