คอลัมน์ ด้วยสมองและสองมือ: วิจัยสเต็มเซลล์บัวหลวงต่อยอดเครื่องสำอางสมุนไพรไทย

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
นักวิจัย มทร.ธัญบุรี คิดค้นสำเร็จ ‘เซลล์ต้นกำเนิดบัวหลวง’ สร้างมูลค่าเพิ่มพืชสมุนไพรไทย ชี้จุดเด่นเรื่องกระจ่างใส ลบเลือนริ้วรอย คว้าเหรียญทอง และรางวัลพิเศษการประกวดผลงานวิจัยนานาชาติกรุงเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ต่อยอดสู่นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อความงาม
ดร.ไฉน น้อยแสง รองผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา อาจารย์วิทยาลัยการแพทย์แผนไทยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เจ้าของผลงาน เผยถึงการศึกษาวิจัยเซลล์ต้นกำเนิด หรือสเต็มเซลล์จากบัวหลวงเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนานวัตกรรมเครื่องสำอางเพื่อความงาม เหตุที่เลือก “บัวหลวง” มาวิจัย เนื่องจากเป็นพืชสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นส่วนผสมเครื่องยารักษาโรคของคนไทยมาช้านาน และยังเป็นอาหารของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มานานหลายศตวรรษ
…ดอกบัวยังถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ในศาสนาพุทธและฮินดู เกือบทุกส่วนของบัวหลวงสามารถนำมาสกัดสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางได้ แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของวัตถุดิบบัวหลวงเนื่องจากกระบวนการเพาะปลูกของบัวหลวงนั้นมีโอกาสปนเปื้อนสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงได้
ดร.ไฉน กล่าวต่อไปว่า จากการสืบค้นข้อมูลภูมิปัญญาพื้นบ้านของไทย พบว่า “บัวหลวง” มีประโยชน์ทางด้านความงามและมีรูปแบบการใช้แบบพื้นบ้านดั้งเดิม จึงได้ศึกษาวิจัยโดยเพาะพันธุ์เซลล์ต้นกำเนิดบัวหลวง ที่ไม่มีการปนเปื้อนสารพิษและโลหะหนัก และได้นำเซลล์เนื้อเยื่อเจริญของบัวหลวง มาสกัดเพี่อให้ได้สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ ต่อยอดจากภูมิปัญญาพื้นบ้านเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางในรูปแบบอิมัลชัน (Emulsion) ซึ่งมีคุณสมบัติในการยับยั้งการทำงานของเอ็นไซม์อิลาสเตส ช่วยลดเลือนริ้วรอย และไทโรซิเนสและโดปาออกซิเดส ช่วยในเพิ่มความขาวกระจ่างใส ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง รวมถึงมีความคงตัวเป็นเวลา 2 ปีภายใต้สภาวะอุณหภูมิต่างๆ
“จุดเด่นของผลิตภัณฑ์จากเซลล์ต้นกำเนิดบัวหลวง ที่ต่อยอดแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ กลุ่มไวเทนนิ่ง เช่น “โลตัส เซลล์ คัลเจอร์ เซรั่ม” ที่ช่วยบำรุงผิวหน้าและคอ ช่วยในเรื่องความกระจ่างใส เหมาะกับคนเอเชียในสภาพอากาศร้อนและท่านที่แต่งหน้า อีกกลุ่มคือเฟิร์มมิ่ง เช่น “โลตัส คัสเชอะ รีเจอเนอรีสคอมเพล็กซ์” ที่บำรุงผิวหน้าและรอบดวงตาจะช่วยทำให้ริ้วรอยแลดูตื้นขึ้น เรียบเนียนและยังเก็บกักน้ำไว้บนผิวเปรียบเสมือนน้ำหล่อเลี้ยงผิวจากธรรมชาติ” ดร.ไฉน อธิบาย
ดร.ไฉน กล่าวอีกว่า ผลงานวิจัยดังกล่าวมีการนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ต่อยอดเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากเซลล์ต้นกำเนิดจากบัวหลวง โดยร่วมมือกับบริษัทในการผลิตและจัดจำหน่ายภายใต้แบรนด์ Dreamer (ดรีมเมอร์) ออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันออกกลางอย่างนครดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ให้การตอบรับเป็นอย่างดี โดยเลือกนำไปใช้ในธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพและความงาม อีกทั้งประเทศจีน และลาว ทั้งนี้ ล่าสุดได้นำผลงานเข้าประกวดและได้รับรางวัลเหรียญทอง จากเวทีนวัตกรรมนานาชาติครั้งที่ 46 (46 th International Exhibition Invention Geneva)รวมถึงSpecial Award On Stage จาก The Korea Invention A Promotion Association ที่จัดขึ้นที่กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส
“การสร้างมูลค่าของบัวหลวง ผ่านงานวิจัยต่อยอดจนมาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางซึ่งผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการประกวดและได้รางวัลในระดับนานาชาติ จะสร้างความมั่นใจในคุณภาพแก่ผู้บริโภค และอยากเห็นพืชสมุนไพรไทยเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากยิ่งขึ้น” ดร.ไฉน กล่าวสรุป
สำหรับผลงานดังกล่าว อยู่ระหว่างการดำเนินการจดทะเบียนคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]