‘ไทยออโตทูลส์’ผนึก’มทร.ธัญบุรี’ ปั้นวิศวะป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์

มติชน (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
ดร.พยุง ศักดาสาวิตร ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัทไทยออโตทูลส์ เปิดเผยว่า บริษัทได้ลงนามบันทึกความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อพัฒนาศักยภาพ ประสิทธิภาพในการผลิตบัณฑิตสาขาทางด้านวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ และสาขาอื่นๆ รวมถึงการวิจัยพัฒนา เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการ และบูรณาการในการผลิตบัณฑิตรุ่นใหม่ที่มีสมรรถนะเพื่อตอบโจทย์ภาคการผลิตในยุค 4.0 รวมถึงการวิจัยและพัฒนา และสร้างนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีระยะเวลาความร่วมมือต่อเนื่อง 3 ปี (พ.ศ.2561-2564)
“ภาคเอกชนมีความต้องการบุคลากรทางด้านวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ หรือทางด้านหุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ ค่อนข้างมาก และบุคลากรด้านนี้ยังขาดแคลนมาก ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รวมถึงการก้าวไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต และการก้าวไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 การที่จะสามารถแข่งขันหรือมีเทคโนโลยีที่ทัดเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน ได้ หัวใจสำคัญคือจะต้องเร่งพัฒนาบุคลากร เชื่อมั่นว่าความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ต้องการองค์ความรู้มาต่อยอดกับมหาวิทยาลัยที่อาจารย์มีความรู้ในเชิงทฤษฎีค่อนข้างสูง แต่ขาดประสบการณ์ในการปฏิบัติงานจริงนี้ จะนำไปสู่การต่อยอด เกิดการวิจัยพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้เกิดการผลิต การสร้างอุปกรณ์โดยใช้หุ่นยนต์ในต้นทุนต่ำลงได้ แล้วก็เพิ่มในเรื่องของประสิทธิภาพได้ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพบัณฑิตด้วย” ดร.พยุงกล่าว
รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้มุ่งเน้นให้เกิดผลใน 3 ส่วนหลักคือ หนึ่งการพัฒนาอาจารย์ แม้ว่าจะมีความรู้ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติ แต่ก็ยังขาดประสบการณ์การทำงานจริง สองการพัฒนาคุณภาพนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตพันธุ์ใหม่ โดยส่งเข้าไปฝึกงานจริง เพื่อจะได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในด้านปฏิบัติ จบแล้วทำงานได้เลย และสามมุ่งเน้นให้เกิดการทำวิจัยพัฒนาร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมในการผลิตเครื่องมือ อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพต่อการผลิตมากขึ้น
“ไม่ว่าจะเป็นการสอนหรือการปรับปรุงหลักสูตรอะไร สิ่งสำคัญที่สุดคือ อาจารย์ต้องสามารถทำงานเป็น เพราะถ้าอาจารย์เก่ง เด็กก็จะเก่ง อาจารย์มือเปื้อนเด็กก็มือเปื้อน อาจารย์ทำงานเป็น เด็กก็ทำงานเป็น การเรียนในสายปฏิบัตินั้น ถ้าอาจารย์นั้นทำงานไม่เป็น ก็จะไม่สามารถจะถ่ายทอดการทำงานให้เด็กทำงานเป็นได้ อาจารย์จะไม่สามารถเข้าใจเรื่องแบบ หรือเรื่องการออกแบบ เมื่อมาสอนก็ไม่สามารถสอนให้เด็กนั้นออกแบบที่ดีได้ เราจึงเน้นให้อาจารย์ ไปหาประสบการณ์จริงในโรงงานของเอกชนเลย ส่วนการสร้างบัณฑิตพันธุ์ใหม่คือ นอกจากพัฒนาให้นักศึกษาเป็นคนคิดเป็นทำเป็นแล้ว จะต้องอยู่พื้นฐานวิชาการทันสมัย สามารถทำได้จริง และพัฒนาต่อยอดเป็นผู้ประกอบการได้ในอนาคต ดังนั้น การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญมาก เพราะทำให้มหาวิทยาลัยได้พื้นที่การเรียนการสอนเป็นพื้นที่เสมือนจริงของภาคอุตสาหกรรม เพื่อใช้เป็นพื้นที่ในการพัฒนาบัณฑิตพันธุ์ใหม่ และจะทำให้อาจารย์และนักศึกษา มีความเข้าใจกระบวนการผลิต โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์ อย่างลึกซึ้ง”

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]