รับเด็กรีไทร์เรียนใหม่ทำได้แต่’คุณภาพ’ต้องไม่ด้อยลง??

กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
ทีมข่าวคุณภาพชีวิต
qualitylife4444@gmail.com

กรุงเทพธุรกิจ หลากหลายเหตุผล ที่นักศึกษาโดยรีไทร์ทั้งเรียนไม่ไหว ปัญหาครอบครัวขาดเสาหลักจนต้องออกไปทำงานหาเงินส่งตัวเองเรียน รวมทั้งปรับตัวไม่ได้ วินัยไม่พอ ทะเลาะวิวาท ความประพฤติไม่ดี จนต้องโดยรีไทร์ไปตามกระบวนการ คำถามคือ ถ้าสถาบันการศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่โดยรีไทร์ออกไปแล้ว2 ปี กลับมาเรียนใหม่ นั้นเหมาะสมหรือไม่ และจะมีคุณภาพการศึกษาหรือไม่ หรือจริงๆแล้วทำเพื่อจุดประสงค์อะไรกันแน่…
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) คือสถาบันอุดมศึกษาที่ประกาศ เปิดรับนศ.ที่โดนรีไทร์ไปแล้ว 2 ปีเท่านั้นมีสิทธิสมัครเข้าเรียนระดับปริญญาตรี ปี 2561 โดยจะหมดเขตรับสมัครภายในวันที่ 25 พ.ค. โดยมีเงื่อนไขว่า นศ.ที่สมัครได้จะต้องมีความประพฤติดี และสามารถเทียบโอนผลการเรียนได้ในวิชาที่ได้ เกรด C ขึ้นไป
ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มทร.ธัญบุรี อธิบายว่า สาเหตุที่นักศึกษาเหล่านี้พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาอาจเป็นเพราะนักศึกษาปรับตัวไม่ได้ ขาดความพร้อม และมีผลการเรียนไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำ เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าการที่นักศึกษาปรับตัวไม่ได้ ไม่ได้หมายความว่านักศึกษาไม่สามารถเรียนได้ และเชื่อว่าการเปิดโอกาสครั้งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่พ้นสภาพเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนอีกครั้ง หากนักศึกษาสามารถเรียนจบ มีงานทำ มีอาชีพที่ดีในอนาคต ถือเป็นการเพิ่มตัวเลขต่อการพัฒนากำลังคนที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศอีกด้วย
ยันให้โอกาสนศ.ปัดเพิ่มยอด
“การเปิดรับครั้งนี้ถือเป็นการดูแลนักศึกษาและให้โอกาสใหม่ ไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มยอดนักศึกษา เพราะตอนนี้ มทร.ธัญบุรีเปิดรับนศ.6,500 คนมีนศ.ยืนยันสิทธิ์แล้ว 4,700 คน และอยู่ระหว่างรับสมัครทีแคสรอบ 3 และปีการศึกษา 2560 ที่ผ่านมา มีผู้เข้ารับศึกษาเกินกว่ายอดที่ตั้งไว้การเปิดรับสมัครนักศึกษาที่พ้นสภาพครั้งนี้ถือเป็นการให้โอกาสมากกว่า”
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี ยืนยันว่า เมื่อ 2 ปีก่อน มทร.ธัญบุรีรับนักศึกษาที่พ้นสภาพจากคณะวิศวกรรมศาสตร์กลับเข้ามาเรียนเป็นคณะแรก จำนวนกว่า 20 คน โดยสอบสัมภาษณ์ เมื่อผ่านก็ให้นักศึกษากลุ่มนี้เริ่มเรียนใหม่ และพบว่านักศึกษาเหล่านี้มีผลการเรียนที่ดีมาก จบมามีงานทำจึงทำการเปิดรับสมัครนักศึกษาที่พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาทุกคณะทุกสาขาวิชา ในปีการศึกษา 2561
“การเปิดรับสมัครนักศึกษาที่พ้นสภาพการเป็นนักศึกษาของ มทร.ธัญบุรี ครั้งนี้ เปิดรับเฉพาะอดีตนักศึกษาของทางมหาวิทยาลัยเท่านั้น ไม่เปิดรับนักศึกษาที่พ้นสภาพจากมหาวิทยาลัยอื่น ซึ่งก่อนจะดำเนินการได้มีการประชุมผู้บริหารมหาวิทยาลัยและพิจารณากันอย่างรอบคอบแล้ว โดยผู้ผ่านการคัดเลือกจะเทียบโอนรายวิชาที่มีผลการเรียนตั้งแต่เกรด C ขึ้นไปและเรียนเพิ่มเติมในวิชาการอื่นต่อไป เราไม่ได้มีเจตนาอื่นนอกจากการเปิดโอกาสให้นักศึกษาที่มีความจำเป็นที่ออกไปทำงานไปด้วย จะได้กลับมาเรียนอีก และยังสามารถเลือกเรียนได้โดยที่ยังสามารถทำงานไปด้วย” อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าว
ขณะที่ ณัชติพงศ์ อูทอง ในฐานะ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิชาการ เสริมว่านักศึกษาบางคนที่ถูกรีไทร์เกิดจาก หลายปัจจัย เช่น ขาดแคลนทุนทรัพย์ ไม่ถนัดกับสาขาที่เรียนอยู่ปรับตัวไม่ได้จึงคิดว่าควรให้โอกาสเด็กดีกว่าต้องไปพ้นสภาพในชั้นปีที่ 3-4 แล้วต้องเริ่มต้นใหม่ จึงได้นำเข้าหารือที่ประชุมคณะกรรมการบริหารวิชาการและวิจัยซึ่งมีคณบดีทุกคณะเข้าร่วม ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกัน จึงได้มีมติออกมาและนำเสนออธิการบดี มทร.ธัญบุรี ลงนามไปเมื่อต้นเดือน พ.ค
ซึ่งตามระเบียบมหาวิทยาลัยกรณีได้เกรด ซี ขึ้นไป สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ แต่ถ้าได้เกรดต่ำกว่านั้นต้องลงทะเบียนเรียนใหม่ซึ่งระเบียบเปิดให้มีการเทียบโอน ทั้งจากผู้ที่ลาออกไปแล้วหรือผู้สำเร็จ การศึกษาไปแล้วและต้องการกลับมา เรียนใหม่เพื่อได้วุฒิปริญญาตรีเพิ่ม ก็สามารถเทียบโอนหน่วยกิตได้ แต่ถ้าเป็นการเทียบโอนคนละสาขา ก็อาจจะใช้เวลาเรียนเพิ่มมากขึ้น
ไม่รับเด็กรีไทร์จากความประพฤติ
“ขอยืนยันว่าเด็กที่ถูกรีไทร์จากความประพฤติ จะไม่รับกลับมาเรียนเด็ดขาด ขณะนี้มีผู้สมัครแล้วประมาณ 90 คน ซึ่งผู้ที่มีสิทธิ์เรียนจะต้องผ่านการประเมินศักยภาพโดยสาขา จะใช้วิธีการสัมภาษณ์หรือประเมินศักยภาพเบื้องต้นด้วย การสอบ หรือ ดูพอร์ตโฟลิโอ แต่ถ้าต้องการเปลี่ยนสาขา ก็อาจจะต้องมีการทดสอบเพื่อประเมินศักยภาพเบื้องต้นตามความเหมาะสม”
ด้านกิตติชัย ไตรรัตนศิริชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) กล่าวว่าจริงๆ ทุกมหาวิทยาลัยต่างรับเด็กรีไทร์กลับเข้าเรียนอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่ได้ประกาศอย่างชัดเจน แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูกรณีที่นักเรียนออกกลางคัน หรือรีไทร์ด้วยว่ากรณี ร้ายแรงหรือไม่ หากเป็นกรณีที่ นักศึกษามีการปรับตัว ปรับนิสัย หรือไม่กระทำการอะไรที่ทำให้ต้องถูก รีไรท์ เชื่อว่าทุกมหาวิทยาลัยจะเปิดโอกาสให้เด็กกลุ่มนี้เข้าเรียน เพราะหากไม่ให้เข้าเรียนอาจจะเป็นการจำกัดสิทธิ์เด็ก
มข.รับเด็กรีไทร์เข้าเรียน
“มข.มีการรับเด็กกลุ่มนี้เข้าเรียน แต่มีการพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะไม่มีคุณสมบัติของมหาวิทยาลัยข้อไหนกำหนดไม่ให้เด็กกลุ่มนี้เข้าเรียน ตอนนี้มหาวิทยาลัยได้มีการรับบุคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา หรือทีแคส ซึ่งเป็นปีแรก ทำให้ระบบการรับรอบที่ 1 แฟ้มสะสมผลงาน และรอบที่ 2 การรับแบบโควตา ยังไม่สามารถรับเด็กได้ตามจำนวนที่กำหนด แต่เชื่อว่ารอบอื่นๆ สามารถรับนักศึกษาได้ตามที่ต้องการ ซึ่งการรับเด็กรีไทร์หรือไม่ ก็คงไม่น่าจะเกี่ยวกับจำนวนนักศึกษาลดลง” อธิการบดีมข.กล่าว
ด้านอดีตนักศึกษาที่เคยถูกรีไทร์กล่าวว่าเห็นด้วย เพราะการถูกรีไทร์ของเด็กนั้น มีหลายปัจจัย ซึ่งบางคนอาจจะมีเหตุผลจากครอบครัว หรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำให้เมื่อเวลาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยจึงไม่มีความพร้อม อีกทั้งเด็กบางคนเมื่อเข้าเรียนไม่ได้อยากมีปัญหา แต่เมื่อพบปัญหาอาจทำให้ไม่มีความพร้อมที่จะเรียนจึงต้องกระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม หรือต้องออกก่อนเรียนจบ ดังนั้น การจะเปิดให้เด็กกลุ่มนี้เข้าไปเรียน ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขชัดเจนว่าเข้ามาเรียนแล้ว เด็กต้องมีความพร้อมในตนเอง หรือมีเกณฑ์ต่างๆ ในการกำหนดให้ เด็กกลุ่มนี้ ขณะเดียวกัน เด็กรีไทร์ ก็ควรเห็นคุณค่าของโอกาสที่ตนเองได้รับอีกครั้งด้วย
ให้โอกาสซ้ำทำให้เด็กขาดวินัย
นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ การกีฬา ม.บูรพา กล่าวว่าการให้โอกาสแบบนี้เหมือนให้โอกาสซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำให้เด็กขาดวินัยในตัวเอง และเมื่อจบออกมาแล้วก็เป็น ปัญหา เชื่อว่าเด็กที่ถูกรีไทร์ ไม่ใช่เด็กที่เรียนไม่เก่ง แต่เด็กขาดระเบียบ วินัยในตนเอง และไม่ตั้งใจเรียนเอง ถือว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากตนเอง และการที่มหาวิทยาลัยนำนโยบาย ดังกล่าวมาใช้ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ ของเด็กแต่เป็นประโยชน์ของมหาวิทยาลัยเอง
นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรี ช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า โดยหลักการ มหาวิทยาลัยสามารถทำได้ หากไม่ผิดระเบียบของมหาวิทยาลัย ถือเป็นการให้โอกาสนักศึกษา ที่สำคัญต้องคำนึงถึงคุณภาพการศึกษา อย่าไปทำให้คุณภาพการศึกษาด้อยลง
ทั้งนี้การให้โอกาสดังกล่าว มหาวิทยาลัยอาจจะต้องพิจารณาความเหมาะสม เช่น ถ้านักศึกษาถูกให้พ้นสภาพนักศึกษา จากข้อหาที่ ไม่รุนแรง อย่างกรณีเกรดเฉลี่ยไม่ผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำ ที่มหาวิทยาลัยกำหนด ก็ควรให้โอกาส แต่หากถูกให้ออกด้วยข้อหาที่รุนแรง เช่น ทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย จนถึงขั้นมีการดำเนินคดีตามกฎหมายอาจต้องพิจารณาให้รอบคอบนั่นเอง

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]