คอลัมน์ ทรงสร้างประโยชน์สุขสู่ปวงประชา: วิโรจน์ ฉิมมี ชีวิตที่ออกแบบได้ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ(จบ)

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
เสกสรร สิทธาคม seksan2493@yahoo.com
“คนเราถ้าพอใจในความต้องการ ก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าทุกประเทศมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่าทำอะไรต้องพอเพียงหมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข”
พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 4 ธันวาคม 2541
“ตอนทำงานใช้เงินเป็นตัววัดงานดีไซน์แต่ตอนนี้ไม่มีเงิน ต้องมองหาสิ่งที่มี นำมาปรับใช้ให้คุ้มค่าที่สุด นำกระบวนการคิดทุกอย่าง ที่ร่ำเรียนมา มาต่อยอดกับสิ่งที่มี วัสดุบางอย่างไม่ต้องซื้อ ของบางอย่างฝึกทำกันเองได้ โดยใช้เงินให้น้อยที่สุด ชวนพ่อขึ้นภูเขาไปตัดไม้จากในสวน เก็บเศษไม้กิ่งไม้ วัสดุเหลือใช้ ช่วยกันเลื่อยไม้ ฝึกทำกันเองทุกอย่าง ก่อร่างสร้างฝันมันขึ้นมา ควบคู่ไปกับการปรับปรุงสภาพแวดล้อม”เบสท์บอกอยู่ได้แล้วมีความสุขจริงๆ ดูเหมือนจะเป็นความสุขที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเคยตรัสไว้คือยั่งยืนเพราะเราช่วยตัวเองได้ด้วยเดินตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ2ปีกว่าๆ ผ่านไปตอนนี้บ้านเก่าๆ หลังนั้น เริ่มดี สะอาด และน่าอยู่ขึ้น สิ่งที่ตั้งใจกลับมาทำนั้น มันเป็นความจริง ถึงแม้วันนี้อาจจะยังดูโทรมๆ บ้าง แต่มันก็คุ้มค่ามากกับสิ่งที่ได้มาคือความสุขกับวิถีความจริงที่เราเดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท ด้วยศาสตร์พระราชาที่พระราชทานไว้ให้เอาไปคิดแล้วทำตามแบบประยุกต์ให้เหมาะสมกับภูมิสังคม มากไปกว่านั้น บ้านหลังนี้ทำให้พ่อกับแม่ยิ้มได้และมีความสุขมากขึ้นไปพร้อมกันด้วย
เบสท์บอกว่าแล้วค่อยเริ่มฟาร์มสเตย์ ที่มีชื่อว่า บ้านไร่ ไออรุณ นำฝันของทุกคนในบ้านมารวมกัน พ่อชอบทำสวน ชอบอยู่ในที่เงียบๆ ไม่ต้องเจอผู้คนมากมาย ส่วนแม่ชอบขายของ ชอบพูดชอบคุย อยากมีร้านขายดอกไม้ต้นไม้ ร้านขายผัก และน้องสาวอยากมีร้านนมขายน้ำผลไม้เล็กๆ เป็นของตัวเอง ส่วนตนเองชอบงานออกแบบต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้ให้ดีขึ้น นำฝันของทุกคนมารวมกัน จนกลายเป็นฟาร์มสเตย์บ้านไร่ เป็นที่พักเล็กๆ เชิงเกษตรปลูกผัก ขายผัก ขุดดิน เก็บหิน กิ่งไม้ ต่อเติมสร้างที่พัก ทุกสิ่งอย่างล้วนเก็บรักษาและสืบสานเพิ่มเติมทรัพยากรธรรมชาติพื้นที่ทั้งหมดของบ้านตั้งแต่บริเวณที่อยู่อาศัยไปจนถึงสวน ด้วยวิถีเกษตรกร ถึงแม้การหันกลับมาเป็นเกษตรกรรายได้อาจจะไม่เท่ากับเงินเดือนตอนเป็นสถาปนิก แต่เงินไม่ใช่เป้าหมายหลัก แต่ความสุขที่ได้กลับมาดูแลคนที่เรารักต่างหากที่สำคัญและมีค่ามากที่สุด
“หากภาระหน้าที่ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ได้มอบรอยยิ้มและความสุขให้กับใครสักคน แค่นี้ชีวิตโคตรมีความหมายแล้ว เพิ่งจะเริ่มต้นลงมือทำมันเท่านั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราเรียนได้เกรดเฉลี่ยเท่าไหร่ เราจบจากคณะอะไรสิ่งสำคัญคือเราได้นำความรู้ที่เราร่ำเรียนมามาปรับใช้ พัฒนาต่อยอด และมีความสุขกับการทำงานในการใช้ชีวิตจริงได้ หาเป้าหมายและสิ่งที่ตัวเองชอบให้เจอให้เร็วที่สุดครับ เพราะมันเป็นเครื่องนำทางเราไปตลอดชีวิต เริ่มต้นเร็วเท่าไหร่ เราก็จะได้อยู่กับมันไปนานๆ คนที่มีชีวิตที่น่าอิจฉา ไม่ใช่คนที่มีเงินเยอะที่สุด แต่คือคนที่มีอิสระได้เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองรักมากที่สุดต่างหากครับ”
เบสท์บอกว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นของคำว่าพอเพียง “เราต้องรู้จักตัวเอง”รู้ว่าตัวเองคือใครเป็นอะไร ชอบแบบไหน ฝันไว้แบบไหนอยากทำอะไรแล้วก็ลงมือทำ (ลงมือทำอย่างจริงจังนะ) ลงมือทำด้วยหลักการของเหตุผล ทำแบบมีสติด้วยความพอประมาณ ที่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันไปในตัว ทั้งนี้ด้วยองค์ความรู้แล้วการมีคุณธรรมในการดำเนินการ ยึดหลักการดังกล่าวที่ก็คือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ โดยไม่เคยมีข้อแม้ใดๆ ในการเริ่มต้นทำสิ่งใหม่ๆ มองปัญหาให้เป็นเรื่องที่ท้าทาย แก้ไขและก้าว ข้ามผ่านมันไปให้ได้ด้วยการ “ประมาณตัวเอง”อยู่ตลอดเวลา ว่าทุกวันนี้ สิ่งที่เรากำลังทำอยู่มันอยู่ในจุดที่พอดีหรือเปล่า
“หนักไป หรือเกินกำลังไปไหม โดยเอาความสุขของตัวเองและคนรอบข้างเป็นที่ตั้งไม่ใช่จำนวนเงิน ซึ่งเราจะเป็นคนที่รู้ดีและตอบคำถามนี้ให้กับตัวเองได้ดีที่สุดครับ”สร้างภูมิคุ้มกัน และแบ่งปัน”ให้กับคนรอบข้าง ในทุกๆวันจะดีแค่ไหนหากสิ่งที่เรากำลังทำอยู่นั้น มันสามารถสร้างคุณค่า ให้กับตัวเองและกับคนอื่นได้การสร้างงาน สร้างอาชีพ มอบโอกาสและรายได้ให้กับคนในชุมชนให้มีงานทำ มันคือการสร้างคุณค่าให้กับผู้อื่น ที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับผมในตอนนี้”
วิโจน์หรือเบสท์ย้ำในตอนท้ายว่าสำหรับตัวเองแล้ว ในหลวงรัชกาลที่ 9 ยังอยู่กับประชาชนคนไทย ทุกคนตลอดเวลา ยิ่งได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิต ก็ยิ่งรู้สึกว่าพระองค์ไม่ได้หายไปไหนเลยยังทรงอยู่กับเราพระองค์ยังทรงอยู่กับทุกคน
“นอกจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงฯ นำมาเป็นแบบอย่างใช้ในชีวิตแล้ว ในเรื่องของความรัก ที่พระองค์มีต่อครอบครัวและบุพการี ผมมีพระองค์ท่านทรงเป็นแบบอย่าง และเชื่อว่าความรักที่เกิดขึ้นในครอบครัวคือจุดเริ่มต้นที่มั่นคงและดีที่สุด ที่จะต่อยอดสร้างสรรค์ และมอบคุณค่า ให้กับผู้อื่นและสังคมนี้ได้ อย่างมีความสุข” เบสท์ทิ้งท้ายด้วยใบหน้าบอกถึงความสุขแท้จริง
สามารถติดตามความเคลื่อนไหวฟาร์มสเตย์บ้านไร่ ไออรุณ สามารถติดตามได้ทางfacebook / baanraiiarun
ชลธิชา ศรีอุบล กองปชส.
มทร.ธัญบุรี ข้อมูล

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]