นักวิจัยมทร.ธัญบุรีเจ๋ง กวาด9รางวัลระดับโลก

ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2561

นักวิจัย มทร.ธัญบุรี กวาด 9 รางวัลใหญ่เวทีประกวดผลงานวิจัยระดับโลก ที่กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส โดยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากเซลล์ต้นกำเนิดจากบัวหลวง คว้าเหรียญทอง พร้อมรางวัลพิเศษ KIPA จากประเทศเกาหลี นักวิจัยเผยเซลล์ต้นกำเนิดจากบัวหลวงช่วยบำรุงผิวหน้าให้ขาวใส ลดริ้วรอยได้ภายใน 2 สัปดาห์ ขณะที่มหาวิทยาลัยเดินหน้าผลักดันต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์แล้ว
นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี คว้ารางวัลผลงานวิจัยกลับมาได้ในครั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นายประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ว่า จากการที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายด้านการวิจัยในประเทศ และ มทร.ธัญบุรี ส่งผลงานวิจัยเข้าร่วมประกวดในงาน “46th International Exhibition of Inventions Geneva” ที่ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งเป็นงานประกวดผลงานประดิษฐ์คิดค้น และจัดนิทรรศการ ระหว่างวันที่ 11-15 เม.ย.2561 โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสวิส (The Swiss Federal Government of the State, the City of Geneva) และองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ WIPO (The World Intellectual Property Organization) ภายในงานมีผลงานเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงนิทรรศการมากกว่า 1,000 ผลงาน จาก 40 ประเทศ
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวอีกว่า ในส่วนของ มทร.ธัญบุรี ได้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวด จำนวน 7 ผลงาน ซึ่งเป็นที่น่ายินดีที่ทั้ง 7 ผลงาน สามารถกวาดรางวัลมาได้ถึง 9 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลเหรียญทอง ผลงาน งานพิมพ์สามมิติรักษ์สิ่งแวดล้อมจากข้าวไทย ของนายอนินท์ มีมนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์, ผลงานนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากเซลล์ต้นกำเนิดจากบัวหลวง ของนายไฉน น้อยแสง วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย ซึ่งได้รับรางวัลพิเศษจาก Korea Invention Promotion Association (KIPA) ประเทศเกาหลีใต้ เพิ่มอีกหนึ่งรางวัลด้วย รางวัลเหรียญเงิน ผลงานเครื่องปรับอากาศด้วยลมเย็นประหยัดพลังงาน ของนายบุญยัง ปลั่งกลาง คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับรางวัลพิเศษ จาก China Association of Inventions (CAI) ประเทศจีนด้วย รางวัลเหรียญ ทองแดง ผลงานพระแม่โพสพ เทพีแห่งข้าว ของนายสุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ ผลงานผลิตภัณฑ์วัสดุก่อสร้างสีเขียวจากผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ผลงานนิวเฮมพ์วอลล์ : วัสดุก่อสร้างอาคารและตกแต่งผนังแบบใหม่เพื่อสิ่งแวดล้อมจากต้นกัญชง ของนายประชุม คำพุฒ คณะวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงผลงานการประยุกต์ลวดลายผ้าทอพื้นถิ่นกับผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ ของนายใจภักดิ์ บุรพเจตนา คณะศิลปกรรมศาสตร์ ซึ่งได้รับรางวัลพิเศษ จาก King Abdulaziz University ประเทศซาอุดีอาระเบียด้วย
“ถือเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจมากที่ผลงานวิจัยของอาจารย์ มทร.ธัญบุรี ได้รับรางวัลในครั้งนี้ โดยเฉพาะผลงานของนายไฉน ได้รับความสนใจจากนักธุรกิจและภาคเอกชนอย่างมาก รวมถึงงานวิจัยชิ้นอื่นๆ ก็ได้รับความสนใจถูกขอซื้อผลงานไปต่อยอดสู่ภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น การได้รับรางวัลในครั้งนี้ เชื่อว่างานวิจัยต่างๆ เหล่านี้จะสามารถนำไปต่อยอดในเชิงพาณิชย์ให้กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือภาคเอกชน ทำให้เกิดกลุ่มสตาร์ตอัพ โดยในส่วนของ มทร. ธัญบุรี พร้อมจะผลักดันและส่งเสริมให้ผลงานวิจัยของคนไทยออกสู่เวทีโลกให้มากขึ้น เพราะจะเป็นการสร้างชื่อเสียง และส่งเสริมภาคการผลิตของไทยให้สามารถขายงานวิจัยในระดับโลกได้มากขึ้น” นายประเสริฐกล่าว
ด้านนายไฉน เจ้าของผลงานนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากเซลล์ต้นกำเนิดจากบัวหลวง กล่าวว่า ผลงานนวัตกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากเซลล์ต้นกำเนิดจากบัวหลวงที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสารสกัดเนื้อเยื่อบัวหลวง โดยนำบัวมาเลี้ยงในระบบปิดไบโอเทค กระตุ้นให้เกิดการแบ่งตัวของเนื้อเยื่อ นำเซลล์ที่แบ่งตัวมาวิเคราะห์องค์ประกอบ เคมีว่ามีคุณสมบัติด้านเครื่องสำอางใดบ้าง จนค้นพบ คุณสมบัติเด่นในเรื่องของความกระจ่างใส และลดริ้วรอย ได้ และเมื่อให้อาสาสมัคร จำนวน 20 ราย ทดลองใช้พบว่าภายในระยะเวลา 2 สัปดาห์ อาสาสมัครเริ่มมีผิวหน้าขาวใส และมีริ้วรอยลดลงทุกคน โดยขณะนี้ได้พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แล้ว มีวางจำหน่ายทั้งในไทย ลาว จีน และดูไบ

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]