คอลัมน์ อวดดี: แข่งขันสุนทรพจน์

เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2561

ในการประกวด “การแข่งขันสุนทรพจน์ภาษาไทยอุดมศึกษานานาชาติ” หัวข้อ “เรียนรู้ภาษา เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต” ที่ทางมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จัดขึ้นที่ห้องประชุมเอื้องคำ อาคารราชภัฏเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
มีสถาบันอุดมศึกษาส่งนักศึกษาต่างชาติเข้าร่วมแข่งขัน จำนวน 15 มหาวิทยาลัย ผู้เข้าแข่งขัน 28 คน โดยการแข่งขันครั้งนี้แบ่งออกเป็น 2 รอบ คือ รอบเตรียมตัว ใช้เวลาพูด 7 นาที และรอบฉับพลัน ใช้เวลาพูด 3 นาที
โดยผลการตัดสินรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ Mr.Sokban Srin มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี รางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 ได้แก่ Mr.Yuzhe Yang มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ Miss Yanqi LI มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
Mr.Sokban Srin เล่าว่า ตนเองเป็นนักศึกษาชาวกัมพูชาที่ได้รับทุนพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการท่องเที่ยว คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี โดยเข้ามาศึกษาที่ มทร.ธัญบุรี เมื่อปีการศึกษา 2557 ซึ่งที่เลือกมาเรียนที่นี่ เพราะว่า เป็นสถาบันที่มี ชื่อเสียง อยากนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพในอนาคต โดยมาอยู่ที่นี่ 1 ปี ก็สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนและสภาพแวดล้อมได้ เพื่อน ๆ ให้ความช่วยเหลือที่นี่เหมือนบ้าน โดยตนเองอาศัยอยู่หอในกับเพื่อนที่มาจากกัมพูชา ปิดเทอมถึงจะกลับบ้านและระหว่างที่เรียนตนเองทำกิจกรรมไปด้วย โดย กิจกรรมที่ตนเองสนใจคือ การแข่งขันสุนทรพจน์ ซึ่งตนเองเคยผ่านเข้ารอบฉับพลันในการแข่งขันสุนทรพจน์อุดมศึกษานานาชาติที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2559 และได้ฝึกฝนทักษะการพูดและการเขียนภาษาไทยอย่างต่อเนื่อง และตัดสินใจเข้าประกวดอีกครั้ง
“การเตรียมตัวครั้งนี้ รอบแรกมีหัวข้อให้ตนเองได้เรียบเรียงบทสุนทรพจน์ โดยมีอาจารย์ผู้ฝึกซ้อม 2 คน คือ อาจารย์โสภณ สาทรสัมฤทธิ์ผล และอาจารย์อรัญญา แสนสระ ให้คำแนะนำ โดยได้วิเคราะห์หัวข้อสุนทรพจน์แล้วนำมาวางโครง
เรื่องการพูดเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษา ความสำคัญของการเรียนภาษา เพื่อนำมาปรับใช้ในการพัฒนาตนเอง พัฒนางาน และพัฒนาคุณภาพชีวิต ซึ่งมีแนวคิดสำคัญว่า การพัฒนาสังคมเริ่มจากการพัฒนาคน การพัฒนาคนเริ่มจากการพัฒนาการศึกษา การพัฒนาการศึกษาต้องเริ่มจากการเรียนภาษา และภาษาคือกุญแจไขประตูสู่โลกกว้าง เป็นเข็มทิศนำทางการติดต่อสื่อสารในสังคมยุคโลกาภิวัตน์ อันจะนำไปสู่การสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันในประชาคมโลก
ส่วนรอบ 2 รอบฉับพลัน ใช้เวลาพูด 3 นาที กรรมการจะให้คิดและพูดตอนนั้น ซึ่งตนเองฝึกซ้อมและเตรียมมาดี ไม่ว่าจะในเรื่องของการเรียบเรียงเนื้อหา จังหวะการพูด การแสดงท่าทาง จึงทำให้ตนเองชนะใจกรรมการ
สุดท้าย Mr.Sokban Srin บอกว่า การที่ตนเองมาอยู่ที่เมืองไทย เมืองไทยเหมือนเป็นบ้านของตนเอง เพราะว่า ลักษณะของอาหารการกิน ชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงภูมิประเทศเหมือนกัน ตนเองจึงรักประเทศไทยเหมือนประเทศกัมพูชา.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]