ครุปัญญา-มทร.ธัญบุรี วัดปัญญานันทาราม ปทุมธานี

ข่าวสด (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2561
นักศึกษาครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี จัดกิจกรรมพัฒนานวัตกรรมและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านพระพุทธศาสนา ในชื่อโครงการว่า “ครุปัญญา” ที่วัดปัญญานันทาราม จ.ปทุมธานี เพื่อให้ชุมชนวัด ทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา พุทธศาสนิกชนและผู้สนใจ เกิดความรู้ความเข้าใจและช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป
โครงการครุปัญญาเป็นการบริการวิชาการที่จะตอบสนองต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามความต้องการของสถานศึกษา สถานประกอบการ ชุมชนและสังคมอย่างมีส่วนร่วม ซึ่งภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษานับว่ามีบทบาทในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้สมัยใหม่ คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศการศึกษา เพื่อตอบสนองการศึกษาทั้งในและนอกระบบ รวมถึงการศึกษาตามอัธยาศัย การฝึกอบรมให้ความรู้ในการสร้างสื่อและนวัตกรรมครั้งนี้ นับว่าเป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในรูปแบบของการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมี ดร.เยาวลักษณ์ พิพัฒน์จำเริญกุล อาจารย์ประจำหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ พร้อมด้วยนักศึกษาครุศาสตร์ฯ ชั้นปีที่ 1-3 กว่า 200 ชีวิตเข้าร่วม
ตัวแทนนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา น.ส.กันยารัตน์ พามา (นัท) ชั้นปีที่ 3 เล่าว่า ตนได้สร้างสื่อการสอนออนไลน์ในแอพพลิเคชั่นในเรื่องของอริยสัจ 4 โดยมุ่งส่งเสริมให้ผู้ใช้งานเกิดการเรียนรู้ เข้าใจในหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา และสามารถนำไปเป็นหลักคิดในการดำเนินชีวิตและประพฤติปฏิบัติตนได้อย่างถูกต้องดีงาม
“การเข้าวัดครั้งนี้รู้สึกได้เป็นส่วนหนึ่งของพระพุทธศาสนา ช่วยสืบทอดศาสนา ครั้งหน้าถ้ามีโอกาสก็อยากเข้าร่วมกิจกรรมเช่นนี้ ต่อไป”
ด้าน น.ส.วรินดา กลิ่นมาลัย (นัจญวา) ชั้นปีที่ 2 เล่าว่า แม้ตนจะนับถือศาสนาอิสลาม แต่การเข้าร่วมครั้งนี้ได้เรียนรู้อีกศาสนาหนึ่ง ซึ่งตนไม่ได้ปิดกั้นตัวเอง เพราะทุกศาสนามุ่งสอนให้คนเป็นคนดี ได้ถ่ายภาพเก็บบรรยากาศภาพรวมให้กับเพื่อนๆ และร่วมจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนากว่า 100 ภาพ
“วัดไม่ใช่สถานที่น่าเบื่อ อยากให้ทุกคนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เปิดใจ เข้ามาเรียนรู้ เข้ามาแบ่งปันในสิ่งที่เรามี เช่น ทักษะความรู้ต่างๆ เพื่อสร้างประโยชน์ต่อไป”
ขณะที่ นายกฤติน ทะรินทร์ (ออดี้) ชั้นปีที่ 2 นายกสโมสรคณะครุศาสตร์ฯ ปี 2561 เผยถึงโครงการนี้ว่า “โลกมีความก้าวหน้า ทันสมัย การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเสริมในการเรียนรู้ด้านพระพุทธศาสนาถือเป็นสิ่งที่ดี คนรุ่นใหม่นิยมใช้สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น จึงเป็นช่องทางที่ดี เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้เข้าถึงสื่อธรรมะได้หลายช่องทาง”
ในโครงการยังมีการบรรยายเทคโนโลยีการถ่ายภาพโดยอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อผลิตสื่อเผยแผ่ทางพระพุทธศาสนา และได้ทำกิจกรรมอาสาในการพัฒนา ทำความสะอาดและตกแต่งวัดปัญญาฯ ด้วย ขณะเดียวกันยังช่วยสร้างความกลมเกลียวและความสามัคคีระหว่างรุ่นน้องรุ่นพี่ในคณะอีกด้วย
“อยากให้ทุกคนได้มาวัดปัญญาฯ มาเดินตามรอยบาท พระศาสดา แดนดินแห่งการประสูติ ตรัสรู้ แสดงปฐมเทศนา และปรินิพพาน สังเวชนียสถานจำลองแห่งนี้ และยังได้ปฏิบัติธรรมนั่งสมาธิ ทำให้เหมือนกับได้พักผ่อนจิตใจ”
นายชลธี สีเสือ (แบงค์) ชั้นปีที่3 เล่าว่า ตนได้เอาเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติมาสร้างเป็นชิ้นงานต้นแบบพุทธมหาเจดีย์ พุทธคยา ซึ่งเป็นสถานที่ที่เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า วัดปัญญาฯ ได้อัญเชิญสร้างเจดีย์พุทธคยาจำลอง เรียกนามพิเศษว่า พุทธมหาเจดีย์ร่วมจัดแสดงในโครงการนี้ด้วย
“ได้เห็นจริง เรียนรู้จริงและลงพื้นที่จริง ประสบการณ์ครั้งนี้ช่วยให้เราลดความถือมั่นยึดมั่นในตัวเอง ทำให้มองเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ของสถานที่ใกล้ตัวรอบๆ สถานศึกษา”

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]