ทปอ. เผย 4 แนวทางผลักดันขีดความสามารถนศ.ไทย พร้อมเสนอองค์กรธุรกิจหนุนทุนการศึกษา-งบวิจัย

แนวหน้า ฉบับวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ทปอ. เร่งดำเนินการขยายเครือข่ายความร่วมมือครอบคลุมสถาบันการศึกษาทุกแห่งทั่วประเทศไทย ตามนโยบาย “ทปอ. พลัสพลัส” โดยประสานการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคล และมหาวิทยาลัยเอกชน เพื่อร่วมกันวางกรอบ นโยบายและแผนงานพัฒนาคุณภาพบัณฑิตไทย ให้มีความรู้ ความสามารถและความเชี่ยวชาญ สอดรับตามความต้องการของภาคเอกชนและองค์กรธุรกิจ ชั้นนำ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ตนในฐานะประธาน ทปอ. พร้อมด้วย ผศ.ดร.เรืองเดช วงศ์หล้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ในฐานะรองประธานคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ในฐานะที่ปรึกษานายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย รศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม ได้มีโอกาสร่วมหารือในประเด็นดังกล่าวกับ คุณกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งการเข้าพบหารือในครั้งนี้ ทำให้ทราบว่าปัจจุบันสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้มีโครงการสนับสนุนสถาบันอุดมศึกษาในหลายด้าน โดยเฉพาะความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับสภาหอการค้าจังหวัด ในการเปิดรับนักเรียนเข้าฝึกงานและสนับสนุน การศึกษาวิจัย ที่สอดคล้องกับความต้องการและทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่ง ถือเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อนักเรียนนักศึกษาและประเทศชาติเป็นอย่างมาก
ดังนั้น เพื่อเป็นการผลักดันความสามารถของเด็กไทยให้มีการพัฒนาเข้าสู่แวดวงอาชีพมากขึ้น ทปอ.ได้เสนอ แนวทางในการดำเนินงานร่วมกันเพื่อผลักดันขีด ความสามารถบัณฑิตไทย ใน 4 แนวทาง ได้แก่ 1.การขยายความร่วมมือในการรับนักศึกษา เข้าฝึกงานในองค์กรธุรกิจเครือข่ายสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยระหว่างเรียน 2.การสนับสนุนให้ทุนนักศึกษาและลงทุนวิจัยกับมหาวิทยาลัยทุกแห่ง โดยผู้สนับสนุนสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 200% ตามกฎหมาย 3.การมีส่วนร่วมของเอกชนในการพัฒนาหลักสูตรที่ทันสมัยตามยุทธศาสตร์ชาติ และ 4.การเปิดโอกาสให้บัณฑิตทุกคนได้มีโอกาสสมัครงานโดยเท่าเทียมกัน

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]