แปรชานอ้อยเป็นผืนผ้า เตรียมถ่ายทอดสู่เอกชน

ไทยรัฐ (กรอบบ่าย) ฉบับวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561
ชานอ้อยเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตน้ำตาล แต่ละปีมีปริมาณมากกว่า 20 ล้านตัน ส่วนใหญ่ถูกไปใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้าของโรงงานน้ำตาล แต่กระนั้นยังมีชานอ้อยเหลือทิ้งอีกถึง 2.14 แสนตัน สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงให้ทุนสนับสนุนคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำโครงการวิจัยการผลิตเส้นใยจากชานอ้อย (Regenerated Cellulose)
ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เผยว่า ปัจจุบันความต้องการใช้เส้นใยเซลลูโลสจากธรรมชาติในงานสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มมีมากขึ้น แต่ปริมาณที่มีอยู่ไม่เพียงพอสถาบันฯจึงมุ่งเน้นสร้างงานวิจัยพัฒนาสิ่งทอที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนสามารถพัฒนาการผลิตเส้นใยจากชานอ้อยสำเร็จได้ครั้งแรกของประเทศทั้งกรรมวิธีแยกเยื่อแอลฟาเซลลูโลสและกระบวนการฉีดเส้นใยเซลลูโลสประดิษฐ์
สำหรับการผลิตเยื่อเส้นใยจากชานอ้อยเริ่มจากการนำชานอ้อยมาผ่านกระบวนการระเบิดด้วยไอน้ำ เพื่อกำจัดเฮมิเซลลูโลสออก จากนั้นนำไปผ่านการต้มเยื่อด้วยสารละลายเบสเพื่อการกำจัดลิกนินออกจากเยื่อ ต่อมานำไปผ่านการฟอกขาวเยื่อ เพื่อกำจัดลิกนินที่เหลือ และลดปริมาณเถ้าในเนื้อ และเพิ่มความขาวสว่างให้กับเยื่อก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการแยกเยื่อแอลฟาเซลลูโลสสูงซึ่งจะเป็นส่วนวัตถุดิบต้นทางในการผลิตเป็นเส้นใย
ทั้งนี้ การจะทำให้เยื่อแอลฟาเซลลูโลสสูงกลายมาเป็นเส้นใยได้นั้นต้องนำไปฉีดขึ้นรูปในเครื่องฉีดเส้นใยเซลลูโลสประดิษฐ์ซึ่งนักวิจัยของโครงการก็สามารถพัฒนาจนสร้างเครื่องฉีดเส้นใยเซลลูโลสประดิษฐ์ขึ้นมาใช้เองได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของประเทศเช่นกัน โดยกระบวนการผลิตเส้นใยจากชานอ้อยนี้ สามารถนำไปต่อยอดผลิตเส้นใยจากพืชเหลือทิ้งทางการเกษตรอื่นๆอาทิเส้นใยมะพร้าวอ่อน เส้นใยสับปะรด เส้นใยผักตบชวา ฯลฯ ในอนาคต
ขณะนี้เส้นใยจากชานอ้อยได้ถูกนำไปใช้สำหรับทอตัวอย่างแล้ว ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากภาคเอกชน และทางสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอกำลังวางแผนถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวออกไปสู่ภาคเอกชนที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ 02-7135-4929.

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]