อธิการบดี มทร.ธัญบุรีชี้อนาคตมหา’ลัยไทยมาตรฐานสากล ผลิตบัณฑิตสร้างนวัตกรรมใหม่

สยามรัฐ ฉบับวันที่ 05 ธันวาคม พ.ศ. 2560
ตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา มีมุมมองว่ามหาวิทยาลัยควรเข้ามามีส่วนรับผิดชอบเรื่องของคุณภาพการศึกษาของบัณฑิต ที่สำเร็จการศึกษาออกไปนั้น รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล(มทร.) ธัญบุรี กล่าวว่า เรื่องคุณภาพสถาบันอุดมศึกษา ปัจจุบันมีเกณฑ์มาตรฐานภายในและภายนอกควบคุมอยู่แล้วและในส่วนของสภามหาวิทยาลัย ก็มีผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก เข้ามาช่วยดูแลขณะที่ในหลายๆ มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ก็เน้นและให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพบัณฑิต โดยกำหนดมาตรฐานตาม QS World University Rankings และ Time Rank สิ่งเหล่านี้ถือเป็นคุณภาพมาตรฐานสากล
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยต่างมองไปที่World Rank โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง มีการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานที่สูงกว่าอุดมศึกษาทั่วไป ส่วนมหาวิทยาลัยที่ไม่สามารถเข้าสู่มาตรฐานสากลได้ก็ต้องเดินตามกรอบมาตรฐานของอุดมศึกษา อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไม่ลืมที่จะส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยมีความเป็นอิสระในการบริหารเรื่องต่างๆด้วย เพราะมหาวิทยาลัย ต้องไม่ใช่แค่บ่มเพาะความรู้เท่านั้น แต่ต้องบ่มเพาะอาชีพเมื่อเรียนจบแล้วต้องปฎิบัติงานได้อย่างแท้จริง
“ปัจจุบันสภามหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัย ได้พยายามกำหนดคุณภาพของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาตามมาตรฐานสากล และยกระดับให้เป็นไปตามอัตลักษณ์ของตัวเอง โดยกลุ่มมหาวิทยาลัยที่เน้นงานวิจัย เช่น จุฬาลงกรณ์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ ม.มหิดล ม.เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งมหาวิทยาลัยเหล่านี้มีมาตรฐานที่กำหนดเอง มีสภามหาวิทยาลัย เป็นผู้กำกับดูแลดังนั้น หากองค์กรอิสระฯ เห็นว่าควรจะมีหน่วยงานใดเข้ามาควบคุมอุดมศึกษาอีก ผมมองว่าควรให้เข้ามาทำหน้าที่เพียงแค่เป็นแนวร่วมให้คำปรึกษา เพราะหากมากกว่านั้น อาจไม่เข้าใจถึงลักษณะเฉพาะทางของมหาวิทยาลัย อย่งไรก็ตามมหาวิทยาลัยต่างผลิตบัณฑิตคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด หรือบัณฑิตได้ทำงานตรงตามวุฒิที่จบ ซึ่งถือเป็นเกณฑ์ทั่วไปที่กำหนดในประเทศ แต่ในอนาคตการผลิตบัณฑิตที่จบมาต้องสามารถพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และมีการผลักดันนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อเป็นกำลังให้ภาคอุตสาหกรรมด้วย” รศ.ดร.ประเสริฐกล่าว

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]