ผลงานทางการแพทย์ หุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับโรคหลอดเลือด

“การเคลื่อนที่จะประกอบไปด้วยมอเตอร์ทั้ง 3 แกนคือหัวไหล่ ข้อศอก และข้อมือ การเคลื่อนที่ทุกตำแหน่งจะมีโหลดเซลล์ (Load Cell) คอยวัดน้ำหนักในการกดทั้งเคลื่อนที่ไปและเคลื่อนที่กลับของทุกจุด” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เล่าให้ทีมงานของเราฟังเกี่ยวกับ หุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับโรคหลอดเลือด (PMK: Exoskeleton Robot for Stroke) ผลงานวิจัยทางแพทย์ตัวใหม่ที่ได้ร่วมวิจัยกับพัฒนาร่วมวิจัยกันทั้ง 3 สถาบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี และนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์ พันเอก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นพ.อารมย์ ขุนภาษี วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า พันเอก รองศาสตราจารย์ นพ. สุธี พานิชกุล วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เบญจลักษณ์ เมืองมีศรี มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ความร่วมมือและวิจัยและคิดประดิษฐ์อุปกรณ์สำหรับคนพิการ และการประดิษฐ์อุปกรณ์ที่ตอบสนองต่อความพิการที่หลากหลายและสามารถฟื้นฟู ให้กลับสู่สภาพปกติเร็วที่สุด

พันเอก ผศ.นพ.อารมย์ ขุนภาษี เปิดเผยว่า ปัจจุบันทางโรงพยาบาลมีผู้ป่วยจำนวนมากที่เข้ารับการรักษา เนื่องจากทหารที่ไปปฏิบัติในท้องที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับบาดเจ็บ เป็นอัมพาต (Paralysis) หรือบางรายอาจเป็นภาวะโรคหลอดเลือดสมอง มีผลทำให้แขนหรือขามีภาวะอ่อนแรง และมีหลายรายที่ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (stroke) คือ ภาวะที่สมองขาดเลือดไปเลี้ยงเนื่องจากหลอดเลือดตีบ หลอดเลือดอุดตัน หรือหลอดเลือดแตก ส่งผลให้เนื้อเยื่อในสมองถูกทำลาย การทำงานของสมองหยุดชะงัก และอาจส่งผลเป็นอัมพาตครึ่งซีกโดยจัดว่าเป็นโรคที่พบบ่อยในบ้านเราขณะนี้ มักพบในวัยกลางคนขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ และเป็นได้ทั้งหญิงและชาย ดังนั้นหุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับโรคหลอดเลือด ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์สูงสุดถ้าได้รับการฟื้นฟูจากหุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับโรคหลอดเลือด โดยช่วยให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนไหวแขน โดยเน้นให้มี Early Activation และ mobilization

ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ มณีธรรม กล่าวว่า หุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับโรคหลอดเลือด เป็นตัวต้นแบบและได้ถูกนำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยบางราย การเคลื่อนที่จะประกอบไปด้วยมอเตอร์ทั้ง 3 แกนคือ หัวไหล่ ข้อศอก และข้อมือ การเคลื่อนที่ทุกตำแหน่งจะมีโหลดเซลล์ (Load Cell) คอยวัดน้ำหนักในการกดทั้งเคลื่อนที่ไปและเคลื่อนที่กลับของทุกจุด โดยการเคลื่อนที่ของแขน การทำงานผู้ป่วยจะเคลื่อนที่ให้สัมพันธ์กับเกมส์ที่อยู่บนจอคอมพิวเตอร์จะทำให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหว หัวไหล่ ข้อศอก และข้อมือได้อย่างอิสระและมีความเพลิดเพลินกับการทำกิจกรรมตลอดเวลา หุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับโรคหลอดเลือด จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วนคือ 1) ส่วนที่เป็นโครงสร้าง ( Hardware) จะมีชุดยึดหรือชุดขับเคลื่อนดีซีมอเตอร์ (DC Motor) ทั้ง 3 แกน พร้อมทั้งยึดติด โหลดเซลล์ (Load Cell) ทุกจุดหมุน 2) ส่วนที่เป็นชุดควบคุม (Control) จะประกอบด้วยไมโครคอนโทรเลอร์ จำนวน 4 ชุดส่งผ่านแบบ RS485 และส่งสัญญาณผ่านดีซีไดร์เวอร์ (DC Drive) เพื่อควบคุมการทำงานและการเคลื่อนที่ของดีซีมอเตอร์ 3) ซอฟต์แวร์ (Software) จะใช้ภาษาซีในการเขียนควบคุมการทำงานทั้งระบบ และ 4) คอมพิวเตอร์หรือจอแสดงผลเกมส์จะต้องสร้างเกมส์ ด้วย Adobe เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนที่แขนได้ตามเกมส์ได้ โดยจะติดต่อสื่อสารจากคอมพิวเตอร์ผ่าน USB ไปยัง หุ่นยนต์ฟื้นฟูสมรรถภาพสำหรับโรคหลอดเลือด

ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ผศ.ดร.เดชฤทธิ์ 086-8821475 หรือทาง Email: dechrit_m@rmutt.ac.th

ชลธิชา ศรีอุบล
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 0-2549-4994

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]