ยอดสมัครเกินคาด ‘1.37 หมื่นราย’ โครงการ TurnAround ปรับแผนธุรกิจ-เพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอีไทย

สสว. แถลงความสำเร็จโครงการ TurnAround มีผู้ประกอบการเข้าร่วมจำนวน 1.37 หมื่นราย ฟื้นฟูกิจการแล้ว 4,445 ราย และเตรียมผลักดันเข้าสู่โครงการต่อไปเพื่อการแข่งขันในระดับที่สูงขึ้น

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยในงานแถลงความสำเร็จของโครงการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอี TurnAround เกี่ยวกับผลการดำเนินงานว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2558 มอบหมายให้ สสว. ดำเนินโครงการเอสเอ็มอี TurnAround เพื่อช่วยฟื้นฟูกิจการเอสเอ็มอีไทยที่มียอดขายตกต่ำ จากภาวะเศรษฐกิจรวมถึงปัจจัยอื่นๆ บัดนี้ โครงการ TurnAround ได้ดำเนินการครบถ้วนตามแผนงานที่กำหนดไว้แล้ว มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสมัครเข้าร่วมโครงการ 13,751 ราย สูงกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 10,000 ราย และ สสว. ยังดำเนินโครงการเงินทุนพลิกฟื้นวิสาหกิจขนาดย่อม วงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อให้กู้ยืมระยะยาวแก่เอสเอ็มอีในโครงการ TurnAround ที่เคยเป็น NPL แต่ได้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยไม่คิดดอกเบี้ย

จากรายละเอียดการดำเนินโครงการ พบว่า ปัญหาหลักผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คือ เรื่องการตลาด ที่ยังขาดการพัฒนาสินค้าหรือสินค้าไม่ตรงความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคในปัจจุบัน ถัดมาจะเป็นเรื่องของต้นทุนที่สูง ไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เสียเปรียบในการแข่งขัน และเรื่องขาดสภาพคล่อง เงินทุนหมุนเวียนติดขัด หากทิ้งไว้มีโอกาสสูงที่จะต้องเลิกกิจการ จึงมอบหมายให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ดำเนินโครงการเข้าไปช่วยในการปรับแผนธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถเอสเอ็มอีร่วมกันกับภาคีอีก 2 หน่วยงาน คือ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

“การดำเนินโครงการ Turnaround สามารถช่วยฟื้นฟูเอสเอ็มอีไทยได้ 4,445 ราย เมื่อเอสเอ็มอีพอมีกำลังจะทำกิจการต่อไปได้แล้ว ก็จะสนับสนุนให้เข้าร่วมโครงการอื่นๆ ต่อไป โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพให้สามารถแข่งขันได้ในโลกยุคปัจจุบัน” นางสาลินี กล่าว

รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) กล่าวว่า ขอบคุณ สสว. ที่ไว้วางใจให้มหาวิทยาลัยได้ร่วมเป็นส่วนสำคัญในโครงการ โดย มทร.ธัญบุรี ได้ช่วยแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ ของเอสเอ็มอี โดยการให้ความรู้เพิ่มเติมและจัดที่ปรึกษาเพื่อวินิจฉัยให้คำปรึกษาเชิงลึก ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือ วินิจฉัยเชิงลึกและยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจ เช่น จัดทำแผนปรับธุรกิจเชิงลึก และช่วยเจรจาหนี้ระหว่างผู้ประกอบการกับธนาคาร ปัจจุบันเอสเอ็มอีในโครงการ TurnAround ได้รับอนุมัติการปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคารเจ้าหนี้แล้ว 330 ราย วงเงิน 273 ล้านบาท และอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาอีก 1,720 ราย ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอีก 8,000 กว่ารายที่เหลือ ได้ช่วยวินิจฉัยและให้คำปรึกษา เพื่อพัฒนากิจการต่อไป เช่น ให้ความรู้ด้าน E-Commerce การจัดหาพื้นที่ขายสินค้า การทำ Packaging รวมทั้งมีการแจกคูปองจากบริษัท ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) หรือเซ็นทรัลแล็บไทย เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำไปใช้ในการตรวจและรับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อเป็นการยกระดับสินค้าและบริการ ขณะเดียวกัน มทร.ธัญบุรี ยังมีผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมต่างๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการได้ รวมถึงมีเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีหลายด้านเพื่อเป็นแหล่งทดสอบและเทียบมาตรฐาน เพื่อรองรับการปรึกษาและช่วยแก้ปัญหาทางธุรกิจได้ ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้ประกอบการในโครงการจะพัฒนาศักยภาพไปสู่การแข่งขันในระดับที่สูงขึ้นต่อไปได้

 

อลงกรณ์  รัตตะเวทิน

มทร.ธัญบุรี / 02-549-4994

แสดงความคิดเห็น

[fbcomments count="off" num="5"]